อัพเกรดหัวเข็มแผ่นเสียงจากหัวเข็มเซรามิคเป็นหัวเข็ม MM

หลังจากที่ได้เสร็จสิ้นการประกอบเครื่องเล่นแผ่นเสียง DIY ไปเรียบร้อยแล้วและก็เล่นมันอยู่ประมาณหลายเดือน แม้ว่าเสียงที่ได้จะอยู่ในระดับที่พอฟังได้ แต่สิ่งที่ยังค้างคาใจอยู่ก็คือความไม่ค่อยสดใสของเสียงกลางและเสียงแหลม เนื่องจากหัวเข็มเดิมที่เป็นแบบเซรามิค (Ceramic cartridge) เวลาต่อเข้าโฟโนพรีแอมป์ต้องผ่านตัวต้านทาน (Resistance) เพื่อลดความแรงของสัญญาณไฟฟ้าลงให้พอเหมาะกับระดับที่โฟโนพรีแอมป์จะรับไหว เดาเอาว่าสัญญาณทุกช่วงความถี่เลยถูกกดลงมาเพราะตัวต้านทาน

ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของการอัพเกรดหัวเข็มใหม่ให้เป็นแบบ MM หรือ moving magnet ในครั้งนี้ เพื่อให้มันทำงานเข้ากันได้ดีกับโฟโนพรีแอมป์ที่ถูกออกแบบมาให้รองรับหัวเข็ม MM

นี่คือหน้าตาสภาพของหัวเข็มที่ได้อัพเกรดจากหัวเข็มแบบเซรามิคมาเป็นหัวเข็มแบบ MM ครับ
และนี่คือผลการทดสอบการเล่นแผ่นเสียงจากหัวเข็ม MM ที่ผมเพิ่งอัพเกรดขึ้นมา
ผลจากการทดสอบคือเสียงที่ได้สดใสและชัดเจนในทุกรายละเอียด เสียงแหลมและเสียงกลางสว่างขึ้นมาในทันที แต่สิ่งที่หายไปคือความอิ่มความใหญ่ของเสียงเบส มันหายไปเยอะเลย หายไปหมดเลยไหม คือไม่ มันเหลือแค่เสียงเบสที่ธรรมดาๆ หมดความกระหึ่มเร้าใจ ราวกับมีใครลากมือเบสไปเล่นในห้องเก็บของหลังเวทีอย่างนั้นเลยทีเดียว

ผมเทียบอารมณ์หัวเข็ม MM อันใหม่เหมือนไปยืนชมวิวที่จิ่วไจ้โกว คือมัน นิ่ง สดใส สว่าง ชัดเจนแม้เศษใบไม้และหินกรวดที่พื้นทะเลสาป ในขณะที่เข็มเซรามิคอันเดิมให้ความรู้สึกเหมือนกำลังเล่นโต้คลื่นที่หาดกะตะ คือมันถูกความหนักความใหญ่ของลูกคลื่นเบสซัดใส่ แต่ไม่มีความสดใสใต้ผืนน้ำ มันเป็นความอิ่มเอมเร้าใจแบบไม่สนรายละเอียด
ผมลองเล่นหัวเข็มใหม่นี้กับอีกหลายแผ่น ใช่ มันสดใสกว่าเดิมมาก รายละเอียดดนตรีเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่เคยได้ยินจากหัวเข็มเดิมก็ปรากฏออกมา มันเป็นการอัพเกรดที่ยกระดับคุณภาพเสียงแบบก้าวกระโดด แต่สิ่งที่ต้องทำใจคือความอิ่มของเสียงเบส แต่ผมคิดว่าเรื่องนี้สามารถแก้ได้ด้วยการหาเข็ม MM อันใหม่ที่ให้พลังเสียงเบสที่เร้าใจกว่านี้มาเปลี่ยน (น่าจะแพงเอาการเลย)

ปล. ผมเพิ่งจะมาทราบหลังจากที่ไปหาความรู้เรื่องหัวเข็มแผ่นเสียงจากเวบต่างประเทศ เลยได้รู้ว่าคาแรกเตอร์เสียงจากหัวเข็มเซรามิคคือเสียงเบสได้ใหญ่ได้เยอะ เสียงกลางก็ได้พอประมาณ แต่เสียงแหลมจะมาน้อยที่สุด มิน่าล่ะ ขนาดผมฟังจากแค่ลำโพง 2 ตัว แต่มันรู้สึกพลังเบสเหมือนมีลำโพงซับวูฟเฟอร์ด้วยเลย 

เบื้องหลังขั้นตอนการอัพเกรด
คราวนี้จะได้เล่าถึงรายละเอียดและขั้นตอนลงมืออัพเกรดหัวเข็มว่าได้ทำอะไรอย่างไรไปบ้าง อย่างแรกเลยคือซื้อหัวเข็ม MM อันใหม่

ผมสั่งซื้อหัวเข็ม MM อันใหม่นี้มาจาก Aliexpress ในราคา 9.36 เหรียญสหรัฐ และความที่ไม่สามารถจะเอาหัวเข็มใหม่นี้ใส่เข้าใน headshell ของเดิมได้ ดังนั้นจึงได้สั่งซื้อ headshell  มาด้วยอีก 1 ชิ้นในราคา 2.66 เหรียญ (แต่ในที่สุดผมไม่ได้ใช้ headshell ตัวนี้นะครับ เพราะอะไรก็ลองอ่านต่อไปครับ)
เวลาที่นำหัวเข็มกับ headshell มาประกอบกันก็จะเป็นสภาพประมาณนี้
ครั้นจะเอา headshell อันใหม่มาใส่เข้ากับก้านโทนอาร์มเลยตรงๆ ก็ไม่ได้ เพราะ headshell เดิมถูกออกแบบให้มีการบิดองศาให้ทิศทางหัวเข็มลู่ไปตามแนวร่องแผ่นเสียงแล้ว ดังนั้นจึงต้องมีการโมดิฟาย
 
ผมถอด headshell เดิมออกมา  ตรวจดูว่าสายสีไหนเข้าขั้วไหน แล้วจดใส่กระดาษเอาไว้กันลืม เพราะเมื่อประกอบหัวเข็มใหม่แล้วก็ต้องต่อสายให้ถูกขั้ว
ฝนสัน headshell ตัวใหม่ออกตามรูป ฝนมันบนกระดาษทรายเบอร์ 5 ใช้เวลาประมาณ 40 นาทีเพราะมันเป็นอลูมิเนียม

แล้วก็ฝน headshell ตัวเดิมให้เหลือตามรูป อันนี้ฝนออกง่ายเพราะมันทำมาจากพลาสติก
จากนั้นก็ยึดทั้งคู่เข้าด้วยกันด้วยกาวและเจาะรูยึดสกรู
แล้วก็นำมาสวมที่ก้านโทนอาร์ม สอดสายไฟให้เรียบร้อยรอการติดหัวเข็ม ที่สำคัญคือสายไหนต่อขั้วไหนต้องให้ถูกต้อง
ตรงขั้วของเข็มใหม่มีตัวหนังสือเขียนบอกไว้ว่าขั้วไหนเป็นขั้วสัญญาณบวกข้างซ้ายข้างขวา เวลาต่อสายก็ตรวจสายที่ต่อให้ถูกตามที่จดไว้ตอนแรก

มีติดนิดนึงตรงขั้วลบด้านล่าง ระยะห่างของขั้วลบทั้ง 2 ขั้วจะกว้างกว่าของหัวเข็มเดิม ก็ต้องใช้คีมเล็กหนีบขยายระยะรูปลั้กตรงสายเสียบให้สามารถสวมได้พอดี ตรงนี้ไม่ยาก
พอประกอบหัวเข็มเสร็จเรียบร้อยก็พร้อมที่จะนำไปเล่นทดสอบ แต่อีกอย่างที่ลืมไม่ได้คือต้องถอดตัวต้านทานที่เคยใส่ไว้ออกด้วย
พอเสร็จเรียบร้อยก็ทดลองเล่นแผ่นเสียงจริงดู ผลก็ออกมาอย่างภาพที่เห็นด้านล่าง
"โอ! พระเจ้า" สภาพที่เห็นคือน้ำหนักของหัวเข็มมันหนักมาก มากจนกดพลาสติกลงมาติดแผ่นเสียง ตัวปลายเข็มยู่ลงตามแรงกดนั้นด้วย เป็นสภาพที่ยอมรับไม่ได้ headshell อันใหม่บวกกับเข็มใหม่มีน้ำหนักมากจนต้องหาวิธีแก้ไข

ผมเคยเตรียมงานจะอัพเกรดตุ้มถ่วงน้ำหนักหัวเข็มไว้ ไม่ได้คิดเลยว่าต้องงัดมาใช้ในเวลานี้ วิธีทำตุ้มถ่วงของผมก็ไม่ได้พิสดารอย่างไร แค่หาโลหะมาถ่วงไว้ด้านหลัง ผมคิดไว้หลายอย่างและสุดท้ายก็มาจบที่น๊อตตัวเบ้งๆ
จัดการติดน๊อตตัวผู้ไว้กับท้ายโทนอาร์มด้วยกาวยาง ส่วนน๊อตตัวเมียก็หมุนสวมเข้าไป จะถ่วงมากน้อยก็หมุนไปตามเกลียว
หลังจากที่ได้ใส่ตุ้มถ่วงน้ำหนักแล้ว ผลคือยังไม่พอ เข็มยังกดแนบแผ่นอยู่ ผมคิดว่าตัว headshell ใหม่นี้ถึงแม้จะทำจากอลูมิเนียมก็ยังหนักเกินกว่าที่ตุ้มถ่วงตัวนี้จะคานน้ำหนักไหว ผมจึงคิดว่าทำ headshell อันใหม่เอาเองดีกว่า หาพลาสติกที่เบาๆ มาทำน่าจะได้เรื่องกว่า หันไปหันมาก็มาเจอสิ่งนี้
มันคือกล่องใส่หัวเข็มที่ไร้ประโยชน์แล้ว แต่ผมว่ามันน่าจะเอามาทำ headshell ได้ ลองเอาชิ้นดำมาวางเทียบกับหัวเข็มก็น่าจะพอใช้ได้
หนึ่งชั่วโมงผ่านไปผมก็ได้ headshell DIY อันใหม่ที่มีน้ำหนักน้อยกว่าเดิมมากๆ ผมลองชั่งน้ำหนักของหัวเข็มด้วยวิธีเก่าแก่ของโลก 
การชั่งใช้หลักการเดียวกันกับตาชั่งจีน เอาไม้บรรทัดมา 2 อัน อันหนึ่งวางเป็นสันตั้งรองรับไม้บรรทัดอันบนที่วางตามแนวราบ ใช้เหรียญ 1 บาทที่กองกษาปณ์บอกว่าหนัก 3 กรัมเป็นตัวถ่วง 

จากการคำนวณพบว่าน้ำหนักกดที่หัวเข็มเท่ากับ 6.3 กรัม ก็ถือว่าดีขึ้น แต่ก็ยังหนักไปหน่อยสำหรับมาตรฐานแรงกดที่เป็นมิตรต่อการรักษาแผ่นเสียงให้คงคุณภาพได้ยาวนาน ในขั้นนี้ก็คงทำได้เท่านี้ก่อน (ซึ่งหลังจากนั้นผมได้พัฒนาตุ้มถ่วงจนถ่วงน้ำหนักกดที่หัวเข็มลงลงได้เหลือ 1 กรัม โปรดติดตามการอัพเกรดครั้งต่อไปครับ)
หลังจากที่ได้ปรับมาใช้ Headshell ที่ผม DIY ขึ้นมาเองใหม่แล้ว น้ำหนักกดที่หัวเข็มก็ลดลงจนอยู่ในระดับที่สามารถเล่นแผ่นได้แล้ว

รายละเอียดการอัพเกรดหัวเข็มจากเดิมที่เป็นหัวเข็มเซรามิคเปลี่ยนมาเป็นหัวเข็มแบบ MM ก็มีเพียงเท่านี้ครับ ตอนนี้เครื่องเล่นแผ่นเสียง DIY ของผมก็เริ่มมีหน้าตาที่มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำแบบใครมากเข้าไปทุกทีแล้วครับ

Comments