ว่าด้วยเรื่องของหัวเข็มแผ่นเสียงล้วนๆ

เข็มแผ่นเสียงทุกวันนี้มีได้ยินหลากหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น Moving magnet (MM), Moving coil (MC), Ceramic, Crystal, Sapphire, Diamond เหล่านี้ล้วนเป็นชื่อที่คนเล่นแผ่นเสียงหน้าใหม่คงสงสัยว่ามันเป็นอย่างไร และควรจะหาเข็มแบบไหนมาเล่นดี ผมก็สงสัยอย่างนั้นเหมือนกัน เลยไปค้นข้อมูลในเนตที่ฝรั่งเขียนไว้ ผมก็เห็นว่าเป็นประโยชน์เลยถอดความมาเล่าให้ฟังครับ
เนื้อหาที่ถอดความออกมานี้ก็มี 2 เรื่องหลักๆ เรื่องแรกคือลักษณะพื้นฐานของหัวเข็มว่าแต่ละแบบทำงานอย่างไร และเรื่องที่สองว่าด้วยวัสดุที่เอามาทำเข็ม

เริ่มที่เรื่องแรก

ลักษณะพื้นฐานของหัวเข็มแผ่นเสียง


หัวเข็มแผ่นเสียงมีหน้าที่สำคัญในการแปลงแรงสั่นสะเทือนจากปลายเข็มที่ลากผ่านร่องบนแผ่นเสียงซึ่งมีความขรุขระให้กลายไปเป็นสัญญาณเสียง

เรามาดูหัวเข็มกันว่ามันประกอบด้วยอะไรบ้าง แต่ละส่วนเรียกชื่อกันว่าอะไร
ยุคปัจจุบันส่วนที่เป็นหัวเข็มประกอบด้วย
  1. Headshell ตัวนี้เป็นตัวที่ใช้จับยึดส่วนที่เป็น Cartridge มี Headshell ที่ดีก็สามารถที่จะเลือกเปลี่ยน Cartridge ได้หลากหลาย เครื่องเล่นสำเร็จรูปบางเครื่องอาจจะมี Headshell ที่ไม่สามารถจะเลือกเปลี่ยน Cartridge ได้ก็มี เลยถูกบังคับให้ต้องใช้ Cartridge รุ่นที่ติดมากับเครื่อง 
  2. Cartridge คือส่วนที่บรรจุกลไกที่แปลงความสั่นจากปลายเข็ม (Stylus บ้างก็เรียกว่า Needle) ให้กลายเป็นสัญญาณไฟฟ้า ซึ่งก็มีกลไกหลายแบบเช่น MM, MC, Ceramic, Crystal 
  3. Stylus หรือ Needle คือตัวเข็มซึ่งประกอบไปด้วยก้านเข็ม (Bar) ที่จะไปยึดติดกับ Cartridge และปลายเข็ม (Tip) ที่มีปลายแหลมขนาดเล็กที่จะไปลากผ่านในร่องของแผ่นเสียง  มีให้เลือกหลายแบบ เช่น Sapphire, Diamond เป็นต้น หลายๆ Cartridge ถูกออกแบบมาให้สามารถเลือกใส่ Stylus ในแบบที่ต้องการได้ 

คราวนี้ก็มาถึงเรื่องของหัวเข็ม ซึ่งในที่นี้จะหมายถึงตัว Stylus และ Cartridge รวมกัน หัวเข็มยุคปัจจุบันมีขนาดของปลายเข็ม (Tip) ที่เล็กมากๆ พอๆ กับปลายเข็มหมุด และขนาดของสัญญาณไฟฟ้าที่หัวเข็มแปลงออกมาจากความสั่นสะเทือนจากร่องเสียงก็เป็นสัญญาณไฟฟ้าที่มีขนาดเล็กมากๆ ประมาณเศษหนึ่งส่วนพันโวลต์เท่านั้น

ความยากในการสร้างหัวเข็มคือทำอย่างไรให้ตัวเข็มมีความมั่นคงพอที่จะคงตัวเองอยู่ในร่องแผ่นเสียงและยังให้ส่วนปลายเข็มสามารถแกว่งไกวไหลพริ้วได้ตามร่องที่ขรุขระอย่างอิสระแม้ในยามที่ต้องโต้กับร่องความถี่ต่ำลูกใหญ่ๆ 

4 รูปแบบหลักของหัวเข็มแผ่นเสียง

รูปแบบหลักๆ ของหัวเข็มแผ่นเสียงมี 4 แบบ คือ
  1. Magnetic (เข็มแบบ MM)
  2. Dynamic (เข็มแบบ MC)
  3. Piezo-electric (เข็มแบบ crystal และแบบ ceramic)
  4. Capacitance
2 แบบแรกอาศัยหลักการตอบสนองแบบ Constant velocity คือความแรงสัญญาณไฟฟ้าที่ถูกสร้างขึ้นมาขี้นอยู่กับความเร็วของการตวัดไปมาของปลายเข็ม การยึดก้านเข็มเป็นลักษณะไม้กระดก ด้านหนึ่งคือปลายเข็มที่รับความสั่นจากร่องแผ่นเสียง ปลายอีกด้านคือตัวสร้างสัญญาณเสียงที่จะแกว่งตวัดในทิศทางตรงข้าม

2 แบบหลังอาศัยหลักการตอบสนองแบบ Constant amplitude คือความแรงของสัญญาณขึ้นอยู่กับระยะในการแกว่งทั้งในทางกว้างและทางลึก ซึ่งหากการแกว่งห่างไกลจากตำแหน่งพักปกติมากเท่าไรสัญญาณก็จะยิ่งแรงมากเท่านั้น

ในทางหลักการแล้วทั้ง 4 แบบไม่มีใครดีไปกว่าใคร แต่ในด้านความนิยมในการฟังแล้ว 2 แบบแรกคนส่วนใหญ่ชอบมากกว่า จากนี้จะเจาะรายละเอียดในแต่ละแบบของหัวเข็ม

1. หัวเข็มแบบ Magnetic หรือหัวเข็ม Moving magnet (MM)
เป็นหัวเข็มแบบที่ได้รับความนิยมสูงสุดเนื่องด้วยราคาที่ไม่แพงเกินไปแต่ให้คุณภาพเสียงที่ออกมาดีมาก เรียกว่าจ่ายพอประมาณแต่ได้คุณภาพเสียงเกินราคา 

ในตำแหน่งที่ก้านเข็มถูกยึดติดที่ชุดหัวเข็ม ปลายด้านหนึ่งจะมีไว้ลากผ่านตามร่องแผ่นเสียง ส่วนปลายอีกด้านหนึ่งจะเป็นตุ้มแม่เหล็กที่แหย่เข้าไปอยู่เท้งเต้งระหว่างแกนขดลวดทองแดงที่ฝังอยู่ในชุดหัวเข็ม
เมื่อเวลาเล่นแผ่นเสียง ปลายเข็มที่เดินบนร่องแผ่นเสียงก็จะขยับไปตามรอยขรุขระ ให้นึกถึงไม้กระดก เมื่อปลายด้านหนึ่งขยับปลายอีกด้านก็จะเคลื่อนไปในทิศทางตรงข้าม ดังนั้นปลายที่เป็นตุ้มแม่เหล็กอีกด้านก็จะขยับเช่นกัน และเมื่อแม่เหล็กเคลื่อนไหวใกล้กับแกนขดลวดทองแดงก็จะทำให้เกิดการเหนี่ยวนำไฟฟ้าและเกิดเป็นกระแสไฟฟ้า แล้วกระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นนี้ก็จะถูกส่งต่อออกไปยังเครื่องขยายเสียงต่อไป

หัวเข็ม Magnetic ยุคต้นๆ ครองตลาดโดยบริษัท GE มีราคาแพงและมีขนาดใหญ่สามารถเปิดถอดออกเพื่อทำความสะอาดปัดฝุ่นที่เกาะภายในได้ ทำออกมาทั้งแบบหัวเข็มเดี่ยวและหัวเข็มคู่ที่สามารถเล่นแผ่นครั่งร่องปกติและแบบร่องเล็ก (microgroove) ได้ ต่อมาบริษัทในเยอรมันก็พัฒนาเข็มยี่ห้อ Miratwin ให้มีราคาต่ำลงและสามารถสร้างกระแสไฟฟ้าสัญญาณเสียงที่มีกำลังหลายเท่ากว่าแต่ก่อน จนต่อมาบริษัท Shure ได้ออกแบบเข็มแบบ Moving magnet (MM) ที่สามารถลดทอนความคลาดเคลื่อนของเสียงให้น้อยลงกว่าเข็มยุคเดิมมาก เข็มแบบ MM นี้มีขนาดเล็กมาก แรงกดของหัวเข็มบนแผ่นเสียงก็ไม่ได้ต้องการมาก ช่วยรักษาสภาพแผ่นได้ยาวนาน แต่กระแสไฟฟ้าสัญญาณเสียงจะออกมาค่อนข้างต่ำมากจึงต้องมีอุปกรณ์แปลงขยายสัญญาณให้ใหญ่ขึ้น

2. หัวเข็มแบบ Dynamic หรือหัวเข็ม Moving coil (MC)
เป็นหัวเข็มที่ใช้หลักการให้กำเนิดสัญญาณไฟฟ้าจากการเคลื่อนที่ของแม่เหล็กและแกนขดลวดทองแดงแบบเดียวกับหัวเข็ม Magnetic แต่หัวเข็ม Dynamic ใช้แกนขดลวดทองแดงเป็นตัวเคลื่อนไหว
กระแสไฟฟ้าที่ออกมาจากหัวเข็มก็มีขนาดเล็กกว่าแบบ Magnetic จึงต้องมีพรีแอมป์คุณภาพสูงมาขยายสัญญาณอีกที Fairchild คือเจ้าตลาดของหัวเข็มแบบ Dynamics ในยุคแรกๆ 

ใครที่ใช้หัวเข็มแบบ Dynamic ก็ต้องควักกระเป๋าหนักหน่อยเพราะความละเอียดอ่อนของมัน ในยุคแผ่นครั่งความเร็ว 78 รอบต่อนาที มันมีทั้งแผ่นปกติทั่วไปและแบบร่องเล็ก (microgroove) มันต้องใช้หัวเข็มต่างขนาด แปลว่าต้องซื้อ 2 หัวเข็มมาใช้ แถมเวลาเล่นจนเข็มทื่อแล้วต้องเปลี่ยนปลายเข็มใหม่ก็ต้องถอดชุดหัวเข็มไปให้บริษัทเปลี่ยนให้ 

นอกจากจะอ่วมเรื่องความแพงแล้วยังอาจจะมีปัญหาสำหรับผู้ที่ใช้เครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบที่แป้นหมุนเป็นเหล็ก เพราะชิ้นส่วนแม่เหล็กที่หัวเข็มกับแป้นหมุนเหล็กจะดึงดูดกัน ผลก็คือมันจะเพิ่มแรงกดบนแผ่นเสียง เป็นตัวเร่งความเสื่อมของทั้งตัวแผ่นเสียงและหัวเข็ม เป็นภาระของคนเล่นอีกที่ต้องเสียตังค์เปลี่ยนชุดแป้นใหม่เป็นวัสดุอื่นที่ไม่ใช่เหล็ก

เข็มแบบ Dynamic ที่ผู้คร่ำหวอดในวงการต่างบอกว่าให้เสียงที่สะอาดปราศจากเสียงรบกวนที่สุดคือเข็มของ Eletro-Sonic Laboratories และแน่นอนคือมันโครตแพง คือเข็มนึงเท่าราคาทองคำน้ำหนัก 6 บาท มันเลยกลายเป็นของเล่นสำหรับคนที่จริงจังกับมันจริงๆ เท่านั้น 

ต่อมาก็มียี่ห้อ Shure และ Leak เข้ามาแย่งตลาดด้วยราคาที่ถูกกว่าแต่ต้องฝ่าฟันกับคำวิจารณ์ของพวกหูเทพว่าเสียงมันแบนไปนิดนึง แต่ทุกยี่ห้อที่กล่าวมาล้วนแต่มีข้อจำกัดคือมันไม่มี vertical compliance คือมันจะเล่นได้ดีกับแผ่นใหม่ๆ เท่านั้น พวกแผ่นสภาพรองลงมาอาจจะไม่ค่อยดีเท่าไหร่ 

จนถึงปี 1957 ก็มียี่ห้อ Grado ที่ออกแบบเข็มใหม่ที่มี vertical compliance ออกมา โดยพัฒนาวัสดุก้านเข็มที่เป็นพลาสติกและออกแบบตัวรับแรงกระแทกทรงกรวยและมีจุดเรเดียมที่มีผลต่อการถ่ายเทประจุไฟฟ้าที่ผิวของแผ่นเสียง

3. หัวเข็มแบบ Piezo-electric
เป็นหัวเข็มชนิดที่ส่งแรงสะเทือนจากปลายเข็มตรงเข้าสู่วัสดุที่เป็น crystal หรือ ceramic การสวิงไปมาของเข็มจะส่งแรงบิดต่อ crystal หรือ ceramic ซึ่งผลของการบิดตัวของวัสดุนี้ก็คือจะมีกระแสไฟฟ้าปล่อยออกมา มันอาศัยหลักการไฟฟ้าเคมีของตัววัสดุ ซึ่งต่างจากไฟฟ้าที่ได้จากแกนขดลวดและแม่เหล็กที่เป็นหลักไฟฟ้าทางฟิสิกส์

กระแสไฟฟ้าจาก crystal หรือ ceramic นี้มีกำลังมากกว่าแบบ magnetic ถึง 60 เท่า จึงเป็นข้อได้เปรียบตรงที่ไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ใดมาเสริมเพื่อขยายกำลังของสัญญาณไฟฟ้าอีก ด้วยเหตุที่ไม่ต้องไปผ่านตัวขยายสัญญาณใดๆ อีกจึงลดการเกิด noise ที่แถมมาด้วยจากอุปกรณ์ขยายสัญญาณเหล่านั้น

หัวเข็มแบบ Piezo-electric ทำงานได้ดีในทุกสภาวะ ต่างจากหัวเข็มแบบ Magnetic ที่อ่อนไหวต่อสนามแม่เหล็กที่เกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นในเครื่องเล่นแผ่นเสียงอย่างเช่นมอเตอร์ขับแป้น หรือแม้แต่สภาวะอากาศที่ชื้นก็มีผลต่อการเกิดสนิมของขดลวดทองแดงซึ่งสุดท้ายก็จะมีผลต่อการกำเนิดสัญญาณไฟฟ้า

ดูเหมือนจะดีไปหมด แต่ว่า...การออกแบบเข็มให้ได้ระดับคุณภาพเสียงที่ออกมาได้น่าพอใจ หัวเข็ม Magnetic ทำออกมาได้ง่ายกว่า

ความแตกต่างก็คือในหัวเข็มแบบ Magnetic และแบบ Dynamic ตัวปลายก้านเข็มเป็นอิสระจากตัวขดลวดทองแดง ไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดสัมผัสกัน ในขณะที่หัวเข็มแบบ Piezo-electric ตัวเข็มได้สัมผัสต่อเนื่องไปยัง crystal หรือ ceramic โดยตรง

คราวนี้ลองนึกดูว่าอะไรที่ถูกเขย่าๆ ตลอดเวลาจะเป็นอย่างไร ในที่นี้คือตัว crystal หรือ ceramic จะถูกสั่นจากแรงที่ปลายเข็มส่งมาตลอด มันก็จะเริ่มมีการล้าและตอบสนองน้อยลง คือบิดตัวน้อยลง พูดง่ายๆ ก็คือมันเฉี่อยนั่นเอง 

ในช่วงเสียงต่ำอาจจะไม่ค่อยมีผลมากนักเพราะแรงสั่นสะเทือนจะเป็นลูกใหญ่ๆ ยังไงความเฉี่อยในการตอบสนองในการบิดของ crystal หรือ ceramic อาจจะสู้ลูกกระแทกใหญ่ๆ ไม่ไหว แต่ในช่วงที่เป็นเสียงสูง การสั่นสะเทือนจะเป็นลูกเล็กๆ ซึ่งอาจจะไม่แรงพอที่จะเอาชนะความเฉื่อยต่อการบิดของวัสดุได้ จึงทำให้สัญญาณไฟฟ้าที่เกิดในช่วงเสียงความถี่สูงเกิดน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

แปลว่าสัญญาณไฟฟ้าที่ออกมา สัญญาณไฟฟ้าจากเสียงต่ำจะออกมามากในขณะที่สัญญาณไฟฟ้าที่มาจากเสียงกลางหรือเสียงสูงก็จะน้อยลงตามลำดับ ทำให้ต้องมาปรับแก้ไขอีกด้วย Equalizer คือปรับให้สัญญาณทั้งเสียงต่ำเสียงสูงกลับมาเท่ากันเหมือนกับเสียงต้นฉบับ และนี่ก็คือคาแรคเตอร์โดยเฉพาะของเสียงที่เกิดจากหัวเข็มแบบ Piezo-electric

หัวเข็มแบบ Piezo-electric ที่ทำขายกันออกมาก็มักจะทำมาจากวัสดุ 2 ชนิด ไม่ทำจาก crystal ก็ทำมาจาก ceramic แต่วัสดุที่นิยมทำกันออกมาคือ ceramic เนื่องจากสามารถให้กำเนิดกระแสไฟฟ้าที่เกิดในช่วงการสั่น 14000 - 17000 รอบต่อวินาที ซึ่งเพียงพอต่อการฟังในระดับ very high fidelity บริษัทที่ผลิตเข็ม crystal และ ceramic ออกมาที่ผู้คร่ำหวอดในวงการแผ่นเสียงยอมรับก็เช่น Electro-Voice, Sonotone ซึ่งทั้งสองที่ก็ผลิตพรีแอมป์ที่ออกมาเสริมการใช้งานเข็มด้วย

4. หัวเข็มแบบ Capacitance หรือ FM cartridges
เป็นหัวเข็มที่ต้องการน้ำหนักกดที่หัวเข็มน้อยที่สุดในบรรดาทุกแบบหัวเข็ม ไม่ว่าจะหัวเข็ม Magnetic หรือ Dynamic หรือว่า Piezo-electric ล้วนต้องการน้ำหนักกดที่หัวเข็มในข่วง 4 - 8 กรัม เพื่อให้เข็มมีแรงในการสั่นพอที่จะไปก่อให้เกิดสัญญาณไฟฟ้า การที่เข็มต้องรับภาระแรงกดด้วยและยังต้องเคลื่อนไหวไปตามรอยขรุขระตามร่องแผ่นเสียงด้วยทำให้ลดทอนความเที่ยงตรงในการถ่ายทอดเสียงที่ถูกต้อง หัวเข็มแบบ Capacitance หรือ FM cartridges จึงเกิดขึ้นมาด้วยแนวคิดที่ว่าภาระที่เข็มต้องแบกรับน้อยเท่าไหร่ ความเที่ยงตรงของเสียงก็ยิ่งมีมากเท่านั้น

เข็มยี่ห้อ Weathers คือเข็มที่ถูกกล่าวขวัญมากที่สุด ด้วยน้ำหนักกดที่หัวเข็มเพียง 1 กรัม มันก็สามารถสร้างเสียงที่น่าประทับใจออกมาได้ ทีมผู้ออกแบบเรียกมันเล่นๆ ว่าเข็ม Capacitance หรือไม่ก็ FM cartridges เพราะวิธีทำงานของมันเหมือนกับการออกอากาศสถานีวิทยุ FM
คุณความดีของมันที่ถูกจับมาโฆษณาในยุค 1950 คือเสียงดีไม่มีการบิดเบือน รักษาแผ่นให้เล่นได้ยาวนาน และเข็มก็ไม่สึกไม่มีวันที่ต้องเปลี่ยนปลายเข็มอีกเลย

หัวเข็มแบบนี้ต้องทำงานร่วมกับอุปกรณ์เฉพาะของมัน จะเอาไปใส่ในเครื่องเล่นแผ่นเสียงทั่วๆ ไปไม่ได้ วิธีที่สัญญาณเสียงถูกสร้างมาจากหัวเข็มนี้ก็คือในเครื่องเล่นนี้จะมีแป้น 2 แป้น แป้นด้านล่างเป็นแป้นโลหะยึดติดตายตัวและจะมีการจ่ายคลื่นไฟฟ้าเข้าไป ส่วนแป้นบนจะเป็นแป้นลอยหมุนได้เอาไว้รองรับแผ่นเสียง เมื่อเล่นเพลงหัวเข็มก็จะสัมผัสผิวแผ่นเสียง และเกิดการสั่นที่เข็มรวมทั้งตัวแป้นลอยด้วย เมื่อแป้นลอยสั่นมันก็จะทำให้ช่องว่างระหว่างแป้นทั้งสองขยับเข้าๆ ออกๆตามความถี่ที่เข็มสั่น จึงเกิดการแปรผันความถี่นั้นออกมาเป็นสัญญาณ Frequency modulation (FM) แล้วตัวรับสัญญาณ FM ก็จะนำสัญญาณนี้ไปขยายต่อไป

ด้วยหลักการสร้างสัญญาณเสียงแบบนี้จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้น้ำหนักกดที่หัวเข็มมาก แค่เพียง 1 กรัมก็เพียงพอต่อการสั่นที่แป้นลอย ดังนั้นเข็มจึงแบกรับน้ำหนักน้อย การเคลื่อนที่ไปซ้ายไปขวาของปลายเข็มจึงเป็นไปอย่างอิสระมากกว่า สามารถซอกซอนได้ทุกร่องหลืบขรุขระในร่องแผ่นเสียง จึงสามารถถ่ายทอดทุกอณูของต้นฉบับโดยไม่ขาดหาย แถมยังช่วยให้แผ่นเสียงไม่บอบช้ำจากการเล่น หัวเข็มก็ไม่สึกและมีอายุการใช้งานยาวนาน

เมื่อมีข้อดีก็ต้องมีข้อด้อย ระบบเครื่องเล่นแบบนี้ค่อนข้างจะบอบบาง ต้องมีการรักษาสภาพให้การสร้างสัญญาณ FM มีความเที่ยงตรงอยู่เสมอ จึงค่อนข้างสวนทางกับแผนการตลาดที่จะให้เครื่องเล่นแบบนี้ลงมาเป็นเครื่องเล่นตามบ้าน นวัตกรรมสุดยอดนี้จึงไม่เป็นที่นิยมของผู้เล่นแผ่นเสียงโดยทั่วไป

ลักษณะทั้ง 4 รูปแบบของหัวเข็มก็มีทั้งหมดดังนี้ ต่อไปก็จะพูดถึงเรื่องของเฉพาะปลายเข็ม (Tip) ซึ่งเป็นส่วนที่สัมผัสแผ่นเสียง


ปลายเข็มแผ่นเสียง

ผมเจอคลิปที่ถ่ายขยายภาพปลายเข็มขณะกำลังเคลื่อนที่อยู่ในร่องแผ่นเสียง ลองดูครับ
จะเห็นว่าส่วนของปลายเข็มที่สัมผัสผิวแผ่นเสียงก็คือด้านท้องและด้านข้างของเข็ม แม้ผิวของแผ่นเสียงทำจากไวนิลแต่ถ้าปลายเข็มสีกับแผ่นเป็นเวลานานๆ ปลายเข็มก็สึกได้

ไม่ว่าปลายเข็มจะเป็นทรงกรวย ทรงตัด หรือทรงมนอย่างไรก็แล้วแต่ที่ผู้ผลิตจะออกแบบมา แต่เมื่อเล่นนานเข้า ตัวร่องขรุขระในร่องแผ่นเสียงก็จะค่อยๆ ฝนด้านข้างและด้านท้องปลายล่างสุดของเข็มให้กุดลงจนมีลักษณะถูกตัดจนแบนราบ เหมือนกับเอาหัวตะปูมนๆ แหลมๆ ไปฝนกระดาษทรายในร่องรางวี สุดท้ายหัวตะปูก็จะหมดความมนและเห็นแนวฝนขึ้นมาแทน 

คราวนี้ลองมาดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเข็มทู่ ในความถี่เสียงระดับ 10000 Hz มันเกิดจากรอยขรุขระที่ระยะ 0.001 นิ้วของผิวด้านข้างของร่องแผ่นเสียง สมมติว่าหัวเข็มมันทู่ รอยฝนที่ข้างเข็มมันยาวเกินระยะ 0.001 นิ้ว แปลว่าเข็มได้เคลื่อนผ่านรอยขรุขระนี้ไปแบบไม่มีการขยับเขยื้อน แปลว่าเข็มไม่สามารถอ่านต้นเสียงที่ 10000 Hz นี้ได้

แค่นั้นยังไม่ร้ายเท่าไหร่ หากลองมาขยายดูข้างเข็มที่ถูกฝนไปเรื่อยๆ มันจะเริ่มเหมือนเป็นการลับมีดอันใหม่ขึ้นมา ขอบข้างของปลายเข็มที่ตอนแรกอยู่ในสภาพมนๆ ก็จะเปลี่ยนเป็นขอบตัด มีความคมที่สามารถจะทำลายผิวไวนิลของแผ่นเสียงได้ 

ว่ากันว่าเข็มจะมีระยะเวลาใช้งานได้ดีในช่วงต้นๆ และต่อมาจะเริ่มบอดในช่วงเสียงความถี่สูง ถึงแม้ผู้ผลิตจะบอกว่ายังเป็นระยะใช้งานของเข็มอยู่แต่การทำลายผิวของแผ่นเสียงได้เริ่มเกิดขึ้นแล้ว

ระดับของการทำลายผิวแผ่นเสียงขึ้นอยู่กับน้ำหนักกดที่หัวเข็มแผ่นเสียงด้วย เปรียบเทียบน้ำหนักที่หัวเข็มกระทำต่อแผ่นเสียงที่ 4 กรัมเท่ากับน้ำหนักเฉลี่ย 20 ตันต่อพื้นที่ 1 ตารางนิ้ว ผมเคยได้ยินผู้เชี่ยวชาญในไทยบอกว่าน้ำหนักกดที่หัวเข็มที่พอเหมาะคือไม่ควรเกิน 3 กรัม แต่ก็เห็นหลายหัวเข็มที่มีขายในท้องตลาดที่ในสเปกบอกว่าต้องการน้ำหนักกดที่หัวเข็มถึง 5 กรัม

ผ่านความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับปลายเข็มไปแล้วก็มาถึงชนิดของปลายเข็มต่างๆ ที่มีขายในท้องตลาด

1. ปลายเข็ม Osium
เป็นปลายเข็มเกรดรองที่มีไว้สำหรับหัวเข็ม crystal หรือหัวเข็ม ceramic มันจะยังคงสภาพดีเมื่อเล่นแผ่นขนาด 12 นิ้วเพียง 2 - 3 ครั้งหลังจากนั้นจะเริ่มทู่ และจะเริ่มทำลายแผ่นหลังจากเล่นครั้งที่ 10 ไปแล้ว มันเป็นเข็มยุคแผ่นครั่งสมัยแรกๆ ที่ต้องเปลี่ยนหัวเข็มบ่อยๆ

2. ปลายเข็ม Sapphire
เป็นปลายเข็มที่เกิดขึ้นมาเพื่อมาทดแทนเข็ม Osium เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมานั่งเปลี่ยนเข็มกันบ่อยๆ เข็ม Sapphire ราคาจะสูงกว่า แต่เมื่อแลกกับอายุใช้งานแล้วมันประหยัดกว่า เข็ม Sapphire สามารถเล่นแผ่น LP ได้ 45 - 70 ครั้งก่อนที่มันจะเริ่มกินแผ่น

3. ปลายเข็ม Diamond
เป็นปลายเข็มที่แทบจะเป็นมาตรฐานที่ใช้ในเครื่องเล่นแผ่นเสียงทุกวันนี้ อายุใช้งานของเข็ม Diamond นานกว่าเข็ม Sapphire 30 เท่า ประมาณว่า 300 ชั่วโมงแรกมันจะให้เสียงที่ดีเยี่ยม และจะให้เสียงที่อยู่ในระดับพอฟังได้ไปถึงชั่วโมงที่ 1000 ก่อนที่มันจะเริ่มทู่  ช่วงระหว่างชั่วโมงที่ 300 ไปจนถึงชั่วโมงที่ 1000 มันค่อนข้างยาวนานจนเจ้าของก็จำไม่ได้ว่ามันสมควรจะเปลี่ยนแล้วหรือยัง ถ้าในเมืองใหญ่ๆ อาจจะมีร้านแผ่นเสียงที่มีเครื่องส่องขยายตรวจดูปลายเข็มว่าสภาพยังพอใช้งานได้หรือว่าทู่จนเป็นอันตรายต่อแผ่นแล้ว

การซื้อปลายเข็มเปลี่ยนใหม่

จากรูปด้านล่างนี้แสดงสภาพของปลายเข็มทั้ง 3 แบบที่ผ่านการใช้งานมา 50 ชั่วโมง เพื่อให้เห็นว่าเข็มที่เริ่มทู่นั้นมันสามารถที่จะทำลายแผ่นเสียงได้ ยิ่งทู่มากก็จะทำลายมาก เสียงก็ยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ ด้วย
เมื่อเข็มทู่แล้วก็ควรจะต้องเปลี่ยนเข็มใหม่ หลายคนประหยัดด้วยการเลือกที่จะเปลี่ยนเฉพาะปลายเข็ม แต่ควรจะพิจารณาด้วยว่าตัว Cartridge ที่ใช้อยู่อาจจะไม่ได้มีสภาพดีเหมือนใหม่แล้ว ตัว MM cartridge ก็อาจจะมีความเสี่อมสภาพของแกนขดลวดทองแดง หรือมีสิ่งสกปรกฝังอยู่ ตัว Ceramic cartridge ก็อาจอยู่ในสภาพที่ตัววัสดุ ceramic ล้ามากเกินไปแล้ว ดังนั้นการเปลี่ยนเฉพาะปลายเข็มอาจจะไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด จึงควรที่จะหาจุดสมดุลเองว่าบัดนี้ควรเปลี่ยอะไรบ้าง อย่าไปประหยัดนิดๆ หน่อยๆ เพื่อจะได้คุณภาพเสียงที่ไม่ร้อยเปอร์เซ็น ไหนๆ เล่นแผ่น หมดกับค่าแผ่นไปเยอะแล้วก็ควรที่จะให้แผ่นเหล่านั้นได้แสดงศักยภาพของมันออกมาให้เต็มที่

บทความอ้างอิง 
http://www.enjoythemusic.com/cartridgehistory.htm

Comments