ลงมือ DIY เครื่องเล่นแผ่นเสียง ตอนต่อวงจร

ตอนนี้จะเล่าถึงขั้นตอนการเอาวงจรต่างๆ มาต่อรวมกับตัวเครื่องเล่นแผ่นเสียง รวมถึงการเดินสายไฟต่างๆ และจัดวางลงไปในกล่องเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ได้ทำขึ้นจนเสร็จไปแล้ว

ขั้นตอนนี้ไม่ค่อยเหนื่อยแรงเท่าไหร่เพราะเป็นงานนั่งโต๊ะปฏิบัติงาน ต่างจากงานทำกล่องเครื่องเล่นแผ่นเสียงซึ่งได้เล่าไปในตอนที่แล้วที่ต้องออกแรงตัด เจาะ ขัด ถู ทา ฯลฯ 

แต่งานต่อวงจรนี้เป็นงานที่ผมว่ามันยากสำหรับคนทั่วไปที่ไม่มีความรู้เรื่องงานไฟฟ้า ต้องเรียนรู้ไฟฟ้าเบื้องต้น การใช้เครื่องมือวัดไฟฟ้า การใช้หัวแร้งบัดกรีและตัวดูุดตะกั่ว กลายเป็นว่างานทุกอย่างที่ต้องทำในขั้นตอนนี้เป็นเรื่องใหม่ทั้งหมด

และเรื่องที่มหัศจรรย์พันลึกของการต่อวงจรเครื่องเสียงก็คือเสียงรบกวนที่เกิดจากคลื่นไฟฟ้า คลื่นวิทยุ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ฯลฯ ที่มันจะออกมาเป็นเสียงฮัม เสียงจี่ ซึ่งจากการที่ผมได้ลอง DIY เครื่องเล่นแผ่นเสียงเองนี้ก็ได้เจอน่าจะทุกรูปแบบของเสียงรบกวน

ยุคนี้มันดีตรงที่มีอินเตอร์เนตให้เข้าไปหาความรู้ ก็ลองทำลองปรับแก้ และก็ได้เรียนรู้ว่าอ๋อมันเป็นอย่างนี้

เสียเวลาร่ายยาวนาน เอาว่าเริ่มลำดับความการต่อวงจรของผมละกันนะครับ ตั้งต้นจากรายการอุปกรณ์ทั้งหมดตามนี้

อุปกรณ์ชิ้นแรก เครื่องเล่นแผ่นเสียง
ด้านบน
ด้านบน ถอดแป้นหมุนออก
ด้านใต้แป้น
ตัวแรกก็คือตัวเครื่องแป้นหมุนหรือที่เรียกกันว่า Turntable (ซื้อมาจาก Aliexpress) ต้องจ่ายไฟเพื่อไปหมุนมอเตอร์ และก็มีหัวเข็มเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่จะเปลี่ยนแรงสั่นสะเทือนจากร่องของแผ่นเสียงให้กลายเป็นกระแสไฟฟ้า ซึ่งผมก็ต้องต่อสายสัญญาณไฟฟ้าที่ได้จากหัวเข็มนี้ไปเข้าเครื่องขยายสัญญาณเสียงต่อไป
ทั้งไฟฟ้า AC ที่จะต่อเข้าเครื่อง รวมถึงไฟฟ้าสัญญาณจากหัวเข็มถูกต่อออกมาเป็นช่องรูให้เสียบซึ่งอยู่ด้านใต้ของเครื่อง ตรงที่เป็นเป็นสี่เหลี่ยมสีขาวๆ ในรูป มันมีขาเสียบที่อยู่ภายใน 6 ขา แล้วแต่ละขามันคืออะไรไม่รู้ และไฟที่จะจ่ายเข้ามอเตอร์กลมๆ ข้างซ้ายในรูปต้องใช้ไฟอะไรกี่โวลต์ ผมเลยทำเป็นรูปเมล์ไปถามผู้ขาย ซึ่งเขาไม่ได้ตอบอะไรกลับมาเลย (ไม่ว่ากัน เพราะมันมีเหตุที่เขาไม่ตอบ เอาไว้จะเขียนเล่าแยกรีวิวในแต่ละอุปกรณ์ต่อไปนะครับ) เลยกลายเป็นว่าต้องหาทางงมคำตอบเอง และที่กังวลอีกเรื่องคือจะไปหาซื้อหัวเสียบ 6 ขาได้ที่ไหน

ว่าแล้วผมก็เลยหอบหิ้วเจ้าเครื่องเล่นตัวนี้ไปบ้านหม้อให้ช่างเขาช่วยดูให้ ทีแรกผมนึกว่ามีเจ้าตัวนี้แล้วแค่ต่อไฟเดินสายก็ต่อเข้าลำโพงได้เลย ช่างบอกว่าต้องมีวงจรอีก ผมถามช่างหลายคนทุกคนร้องหาวงจรหมด ทำไงดี คงต้องกลับมาตั้งหลักใหม่ 

แต่วันนั้นขอทะลวงจุดคาใจตรง 6 ขาใต้เครื่อง ผมเลยไปซื้อหัวเสียบ 6 ขาเพื่อเสียบต่อเข้าเครื่อง ในร้านขายอะไหล่อิเลกโทรนิกส์
ซื้อที่ร้านอะไหล่อิเล็กโทรนิกส์ตึกแถว ตรงข้ามกับเคี๊ยงหลีพลาซ่า
ผมโชว์รูเสียบให้ร้านดู เจ้าของร้านมองปร๊าดเดียวแล้วบอกไม่ได้ทำแบบสำเร็จไว้ มีแต่ที่เป็นชิ้นส่วนซึ่งผมต้องมาประกอบเอง ผมก็เลยซื้อมาราคาประมาณไม่ถึง 10 บาท แล้วมาให้ช่างแถวนั้นช่วยประกอบให้ช่างคิดค่าประกอบ 40 บาท 
ลืมถ่ายรูปหัวเสียบแบบเพียวๆ ไปค้นเจอรูปที่พอจะมองเห็น หัวเสียบคือตัวสีขาวที่ช่างต่อสายไฟมาให้ 6 เส้น ยาวเส้นละ 20 ซม. ตอนนั้นผมยังไม่รู้ว่าสายไหนเป็นสายอะไรเลยบอกให้ใส่มาเป็นสายสีเหลืองทุกเส้นก่อน (ในรูปเป็นตอนที่ผมมาใส่ตัว R เพื่อลดกำลังของสัญญาณเสียงในเส้นของสัญญาณเสียงครับ)
สภาพเมื่อเสียบหัวเสียบเข้าไปในรูขาเสียบแล้ว
สรุปผลลัพธ์การไปเดินบ้านหม้อวันนั้นก็ได้หัวเสียบสล๊อต 6 ขาที่คาใจ กับต้องไปหาวงจรมาเพิ่ม และหลังจากที่กลับมาค้นข้อมูลเพิ่มเติมอีกหลายวัน นี่คือที่มาของอุปกรณ์ชิ้นต่อไป

อุปกรณ์ตัวที่ 2 เพาเวอร์แอมป์ เพื่อรับสัญญาณเสียงมาขยายเพื่อให้มีกำลังมากพอไปขับลำโพง
เป็นมินิแอมป์ที่ซื้อมาจากอาลีเอ๊กเพรส รองรับการใช้งานบลูทูธด้วย ตัวนี้เป็นอะไรที่ไม่ซับซ้อน ในเนตมีรีวิวการใช้เยอะมากๆ ตอนได้มาก็ทดลองต่อไฟ AC 19 โวลต์จากอแดปเตอร์เครื่องโน๊ตบุ๊ค แล้วต่อสายไปลำโพง ทดลองฟังผ่านสัญญาณบลูทูธ ก็ได้เสียงดีน่าพอใจ 

วงจรตัวนี้จะมีไว้รับสัญญาณเสียงขนาดประมาณ 200 มิลลิโวลต์มาขยายต่อ แต่เจ้าเครื่องเล่นแผ่นเสียงของผมคาดว่ามันจ่ายสัญญาณเสียงไปแค่ไม่ถึง 20 มิลลิโวลต์ ซึ่งไม่พอแรง จึงต้องมีวงจรอีกหนึ่งตัวมาขยายสัญญาณที่เบาบางจากหัวเข็มนี้ก่อน ซึ่งทำให้ผมต้องซื้อวงจรอีกหนึ่งตัวมาเพิ่ม นั่นคือ

อุปกรณ์ตัวที่ 3 โฟโน พรีแอมป์
วงจรโฟโนพรีแอมป์ตัวนี้ซื้อมาจากอาลีเอ๊กเพรสอีกเช่นเดียวกัน มันเป็นวงจรที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับเครื่องเล่นแผ่นเสียงโดยเฉพาะ มันทำหน้าที่ขยายสัญญาณเสียงจากหัวเข็มที่มีกำลังของสัญญาณต่ำมากๆ ให้ใหญ่เพียงพอแล้วส่งต่อให้เพาเวอร์แอมป์ไปขยายต่อไปขับลำโพงต่อไป 

ที่เลือกตัวนี้เพราะมีรีวิวที่ดีในเนต ราคาพอรับได้ (และสุดท้ายก็ประจักษ์ว่าเลือกไม่ผิด เสียงดีมาก ให้เวทีเสียงกว้างมาก) วงจรตัวนี้ต้องการไฟเลี้ยงเป็นแบบ center tap และถ้าให้ดีก็ควรใช้หม้อแปลงเทอรอยด์ที่จะเป็นอุปกรณ์ชิ้นต่อไป

อุปกรณ์ชิ้นที่ 4 หม้อแปลงไฟฟ้าแบบเทอรอยด์

หม้อแปลงเทอรอยด์ 15 - 0 - 15 โวลต์
เขา(ในพันทิป) บอกว่าในเครื่องเสียงดีๆ เขาใช้หม้อแปลงเทอรอยด์ดังนั้นก็ไม่ต้องไปคิดมาก สอยมาจากอาลีเอ๊กเพรสเหมือนเดิม อุปกรณ์ชิ้นนี้น่าจะเป็นอุปกรณ์ที่มีราคาแพงที่สุดแล้วเมื่อเทียบกับอุปกรณ์ตัวอื่นๆ วิธีการต่อสายก็ไม่ยาก เรียนรู้ได้จากในเนตได้ทั้งหมด 

อุปกรณ์ชิ้นที่ 5 หม้อแปลงไฟ(อแดปเตอร์) DC

ผมต้องหาอแดปเตอร์ไฟกระแสตรง (DC) สำหรับอุปกรณ์วงจรเพาเวอร์แอป์ 1 ตัว ขนาด 19 โวลต์ และสำหรับจ่ายเลี้ยงมอเตอร์ในเครื่องเล่นแผ่นเสียงอีก 1 ตัว ผมส่องดูตรงมอเตอร์ของเครื่องเล่นแผ่นเสียง มันมีเขียนข้างๆ ว่า DC 12 V
สรุปคือผมซื้ออแดปเตอร์มา 2 ตัว ตัวหนึ่งเป็น 19 โวลต์ อีกตัวเป็น 12 โวลต์ ซื้อจากพวกที่ขายของเก่าแบกะดินตามตลาดนัด ประมาณตัวละ 120 บาท

อุปกรณ์ตัวที่ 6 ลำโพง Passive
ลำโพงคู่นี้ได้มาจากการพรากแม่มันที่เสียแล้วกองเก็บอยู่ใต้บันได เป็นลำโพงแยกชิ้นคือแยกลำโพงเสียงแหลมออกมาจากลำโพงเสียงทุ้ม ขนาดกำลังวัตต์ที่ 50w x 2
ถึงตอนนี้อุปกรณ์สำคัญทั้งหมดก็มีครบแล้ว ก็ถึงเวลาจับประกอบ ผมก็ได้เริ่มเรียนรู้การใช้เครื่องมือใหม่ๆ อย่างเช่น หัวแร้งบัดกรี มัลติมิเตอร์ ตัวดูดตะกั่ว
ผมงมไปงมมากับเจ้าสล๊อต 6 ขาในเครื่องเล่นแผ่นเสียงจนรู้แล้วว่าขาไหนเป็นอะไร ก็เริ่มการต่อวงจรได้เลย การต่อสายวงจรครั้แรกนี้ผมไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เพียงเพื่อจะทดสอบว่าอุปกรณ์ทุกชิ้นสมบูรณ์และสามารถทำงานได้ ดูจากรูปข้างบนก็ชวนให้สับสนว่าสายไหนเป็นสายไหน เอาว่าผมเขียนเป็นแผนภาพจะเข้าใจได้ง่ายกว่า คือครั้งแรกผมต่อวงจรตามนี้
แผนภาพการต่อวงจรครั้งที่ 1
ครั้งที่ 1 นี้ ผมเอาสายไฟและสายสัญญาณแถมต่างๆ ที่มีอยู่ในบ้านมาใช้ (ไม่ลงทุนเลย) ผลที่ได้ก็ตามที่ได้ลงไนโพลต์ ลงมือ DIY เครื่องเล่นแผ่นเสีบง ตอนที่ 3 ทุกอุปกรณ์ทำงานได้ไม่มีเสีย แต่คุณภาพเสียงออกมาแย่มาก เสียงแตก เสียงฮัม เสียงจี่ มาครบ 

ไปค้นข้อมูลในเนตพบว่าถ้าระบบมีแหล่งจ่ายไฟเข้ามามากกว่า 1 แหล่ง จะมีเสียงฮัม ซึ่งตรงกับเคสนี้ คือผมใช้อแดปเตอร์ 2 ตัวจ่ายเข้าเครื่อง พอตัดออกไปเหลือแค่ตัวเดียวเสียงฮัมก็ลงลง และเขาแนะนำมาว่าต้องรินสัญญาณรบกวนทิ้งลงกราวน์ให้หมด ผมก็เลยเปลี่ยนปลั๊กไฟที่ใช้จากเดิมเป็นปลั๊กไฟ 2 ขา ให้เป็นปลั๊ก 3 ขา

เปลี่ยนปลั๊กใหม่เป็นแบบ 3 ขา คือมีขากราวน์เพื่อให้สัญญาณรบกวนออกไปลงกราวน์

และอีกเรื่องคือคุณภาพของสายที่ใช้นำสัญญาณต้องดี ดีคือต้องป้องกันคลื่นไฟฟ้าทั้งหลายที่วิ่งวนเวียนในอากาศไม่ให้เข้าไปในสายได้ ซึ่งเขา(ในพันทิป) แนะนำว่าต้องเป็นสายชิลด์

ผมจึงทำการปรับปรุงใหม่โดยตัดอแดปเตอร์ 12 โวลต์ออกแล้วไปจั๊มไฟมาจากเส้น 19 โวลต์แล้วมาเข้าวงจร IC Regulator ลดแรงดันไฟจนเหลือ 12 โวลต์
วงจร IC Regulator ที่เพิ่มเข้ามา ที่เขาใช้กันหลักๆ มี 3 ตัวประกอบ ตัวสำคัญสุดคือตัวกลางที่เห็นมี 3 ขา เป็น IC ชื่อหมายเลข 7812 ตัวนี้ทำหน้าที่ลดแรงดันไฟให้เหลือ 12 โวลต์ จากไฟเข้าไม่ว่าเท่าไหร่ (แต่อย่าต่างมาก) แรงดันไฟที่หายไปจะแปรสภาพเป็นความร้อนระบายออก จึงต้องมีฮีตซิ๊งตัวซ้ายมือมาประกบเพื่อระบายความร้อนออกไป ส่วนตัวขวาคือตัว Capacitor ทำหน้าที่ให้ไฟขาออก 12 โวลต์มีความเรียบเนียนไม่วูบวาบ กรณีที่จะเอาไปต่อกับอุปกรณ์ที่ละเอียดอ่อนก็จำเป็น แต่กรณีของผมคือไฟ 12 โวลต์ไปเลี้ยงมอเตอร์ เลยคิดไปเองว่าไม่ต้องเรียบมากก็ได้ เลยไม่ใส่ Capacitor
สภาพของ IC 7812 ที่ผมใส่เข้าไป
นอกจากนี้ผมยังเปลี่ยนสายสัญญาณเสียงทั้งหมดเป็นสายชิลด์ คือเป็นสายที่มีเส้นโลหะถักพันรอบฉนวนหุ้มสายสัญญาณอีกชั้นหนึ่ง ผมเลือกซื้อแบบถักหนามากๆ มาเลย เมตรละ 70 บาท
และการต่อวงจรครั้งที่ 2 นี้ก็เป็นไปตามแผนภาพนี้
ผลการทดสอบก็เป็นไปตามที่ได้ลงในโพสต์ ลงมือ DIY เครื่องเล่นแผ่นเสีบง ตอนที่ 4 คือพบว่าเสียงฮัมหนาๆ หายไป เสียงจี่ค่อยลง แต่เสียงแตกของเพลงยังมีอยู่ แสดงว่ามาถูกทางบางส่วนแล้ว แต่ยังมีตำหนิต้องแก้ไขอยู่

ไปค้นในเนตเพิ่ม พบว่าเสียงที่แตกเกิดจากสัญญาณที่ออกจากหัวเข็มไปที่โฟโนมันแรงเกินไป คือตามสเปกของตัววงจรโฟโนตัวนี้มันรับสัญญาณเสียงขาเข้ามาได้ระหว่าง 1- 3 มิลลิโวลต์ แล้วจะขยายออกเป็นประมาณ 200 - 300 มิลลิโวลต์ส่งต่อไปให้เพาเวอร์แอมป์ วงจรโฟโนตัวนี้ออกแบบมาสำหรับหัวเข็มชนิด MM (Moving Magnet) ซึ่งปล่อยสัญญาณเสียง 1-3 มิลลิโวลต์ แต่หัวเข็มเครื่องเล่นของผมมันไม่ใช่หัวเข็ม MM แต่เป็นหัวเข็มแบบเซรามิค (Ceramic cartridge) ซึ่งปล่อยสัญญาณออกมาประมาณ 100 มิลลิโวลต์ มันเลยเข้าไปกระแทกกระทั้นในตัววงจร มันจึงปล่อยเสียงที่แตกๆ ออกมาเมื่อเสียงเพลงมันดัง

วิธีแก้ก็คือเปลี่ยนหัวเข็มให้เป็นแบบ MM ซึ่งก็มีขายในอาลีเอ๊กเพรสซึ่งเป็นวิธีแก้ที่ถูกจุด หรือเอาแบบถูๆไถๆ ก็คือลดทอนกำลังของสัญญาณจากหัวเข็มเซรามิคด้วยการใส่ตัวต้านทาน (ตัว R) เข้าไป ผมเลือกอย่างหลังเพราะทุนต่ำ โม(Modify)น้อย 
ตัวต้านทาน(ตัว R) ตัวละบาท ซื้อมาทดลองเล่นคงไม่ถึงกับล่มจม
ผมทดลองเอาตัวต้านทานขนาดต่างๆ มาลองใส่ แบบลองผิดลองถูกเพราะคำนวณไม่เป็น ผลออกมาคือต้องใช้ตัวต้านทานขนาดประมาณ 1.7 ล้านโอห์ม

การทดลองครั้งที่ 3 จึงเกิดขึ้นตามที่ผมได้ลงไว้ในโพสต์ ลงมือ DIY เครื่องเล่นแผ่นเสียง ตอนที่ 5 โดยในครั้งนี้การต่อก็เป็นไปตามแผนภาพนี้
ผลการทดสอบก็พบว่าเสียงแตกหายไป แต่เสียงเบสแผ่วลงหน่อยนึง ไม่ทุ้มหนาเท่าเก่า ก็ถือว่าพอฟังได้ ไม่ต้องรำคาญเสียงแตกๆ อีกต่อไป แต่ถ้าจะให้ดีก็ควรจะโมดิฟายหัวเข็มให้ใส่หัวเข็มแบบ MM ไปเลย ซึ่งก็คงหลังจากนี้ไปก่อน

และนี่คือแนวทางการต่อวงจรที่ผมจะใช้จริงในตอนที่จะติดตั้งในกล่องที่ทำเสร็จแล้ว

และแล้วเมื่อพอถึงตอนที่ผมจับวงจรนี้ยัดลงในกล่องไม้แล้วทดลองเล่น กลับพบว่าเสียงฮัมมา แถมเวลาเอานิ้วไปแตะที่ก้านเข็มที่เป็นโลหะอลูมิเนียม มันก็เกิดเสียงจี่ แปลกมาก ตอนทำบนกล่องชั่วคราวไม่มีเสียงฮัม

กลับไปค้นข้อมูลในเนตอีก ได้ความมาว่าทุกชิ้นโลหะในระบบมีสภาพเสมือนหนึ่งเสาอากาศรับสัญญาณ ดังนั้นต้องปกปิดหรือหุ้มด้วยฉนวนให้หมด ตอนนั้นตัวต้านทานมันเปิดอ้าซ่า ผมก็เอาท่อหดไปหุ้มมันซะ

และเขายังแนะนำอีกว่าให้ทำ Ground center หรืออะไรซักอย่างในความหมายที่ว่าทุกอุปกรณ์จะมีสายขั้วลบ ให้เชื่อมต่อสายขั้วลบของทุกอุปกรณ์มารวมกันแล้วไปต่อกับสายดินที่มากันกับสาย AC เพื่อที่จะได้เทสัญญาณรบกวนทั้งหมดทิ้งไปลงกราวน์ของระบบไฟในบ้าน

ผมก็ได้ลองทำตามนั้นดู เลยทำให้สายไฟในเครื่องดูพัวพันจนยุ่งเหยิง แต่ผลก็คือสัญญาณรบกวนต่างๆ หายไปจริงๆ เหลือบ้างแต่น้อย คือถ้าเร่งวอลุ่มเยอะๆ ถึงจะเริ่มได้ยินเสียงฮัมเล็กๆ คือ ณ จุดนี้ถือว่าพอใจ

สรุปสิ่งที่ผมได้ทำในการต่อระบบวงจรของเครื่องเล่นแผ่นเสียง DIY ของผมก็มีทั้งหมดเท่านี้ อาจจะมีที่ไม่ถูกตามหลักวิชางานช่างที่ดีบ้าง สำหรับท่านที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้ก็ต้องขอขอบคุณมาก (มันเป็นโพสต์ที่ยาวมาก และอาจจะน่าเบื่อ) และถ้าท่านใดมีคำแนะนำใดๆ ก็โปรดช่วยอนุเคราะห์เป็นวิทยาทานแก่ผมและผู้สนใจอื่นๆ ที่อาจจะได้เข้ามาเก็บเกี่ยวความรู้ครับ

Comments