ลงมือ DIY เครื่องเล่นแผ่นเสียง ตอนที่ 5

และแล้วการพัฒนาปรับปรุงเครื่องเล่นแผ่นเสียง DIY ก็ขยับขึ้นมาอีก 1 ก้าว ครั้งนี้ผมพบสาเหตุของอาการเสียงแตกพร่าและเสียงแผดซ่าในช่วงที่ดนตรีเล่นดังแล้ว สาเหตุคือกระแสไฟฟ้าที่ถูกสร้างขึ้นจากการสั่นสะเทือนของปลายเข็มมีความรุนแรงเกินกว่าที่ภาคขยายโฟโนจะรับได้

สเปกของวงจรโฟโน (Phono preamp) ที่ผมเลือกใช้นั้นรองรับกระแสไฟฟ้าในช่วง 1-3 มิลลิโวลต์แล้วขยายเป็น 200 มิลลิโวลต์เพื่อจ่ายต่อให้ภาคขยายเสียงหรือตัวแอมป์จิ๋วที่ผมเลือกใช้ ซึ่งโฟโนตัวนี้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับหัวเข็มแบบ MM ที่ปล่อยสัญญาณไฟฟ้าขนาด 1-3 มิลลิโวลต์เท่านั้น

แต่หัวเข็มที่ติดมากับเครื่องเล่นของผมคือหัวเข็มแบบเซรามิค (Ceramic cartridge) ซึ่งปล่อยสัญญาณไฟฟ้าออกมารุนแรงมากถึง 150-300 มิลลิโวลต์ ซึ่งเกินกว่าที่โฟโนจะรับไหว ดังนั้นในช่วงที่เสียงในเพลงดังกระแสไฟฟ้าก็จะมากตาม ทำให้เสียงแตกพร่า ยิ่งบางช่วงที่ดนตรีกระหน่ำถึงกับทำให้โฟโนช็อคไปดื้อๆ คือเสียงเงียบใบ้ไปเลย 2-3 วินาที

เมื่อเหตุเป็นดังนี้สิ่งที่ถูกที่ควรก็คือต้องเปลี่ยนหัวเข็มให้เป็นแบบ MM ซึ่งผมก็กำลังวางแผนจะซื้อผ่าน Aliexpress แต่ยังก่อน! ผมยังมีทางเลือกอื่นอีกก่อนจะควักกระเป๋า

ในเมื่อหัวเข็มเดิมมันส่งกระแสไฟรุนแรงพอก็น่าจะต่อตรงเข้าแอมป์จิ๋วได้เลย แม้ว่าคุณภาพเสียงที่ได้อาจจะไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ก็อยากทดลองดู

การทดลองทดสอบครั้งนี้จึงเป็นการต่อสายสัญญาณเสียงจากหัวเข็มเข้าไปที่แอมป์จิ๋วโดยตรง แต่ความที่ผมไม่ได้หวังผลเลิสเลอกับแนวทางนี้มากนัก แค่อยากทดลองดู จึงต่อลำโพงออกแต่ข้างเดียว ลองฟังผลการทดสอบครั้งนี้ตามคลิปนี้ครับ
คลิปทดสอบการ DIY เครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบไม่ต่อโฟโน
จากการทดสอบครั้งนี้พบว่าเสียงที่ได้จากการต่อสัญญาณเสียงจากหัวเข็มเข้าแอมป์จิ๋วโดยตรง ไม่มีการผ่านโฟโนปรีแอมป์ เสียงแหลมเด่นชัดมาก เสียงทุ้มเสียงเบสหาย เวทีเสียงแบน และสิ่งที่น่าทึ่งอย่างหนึ่งคือไม่มีเสียงฮัมหรือเสียงจี่มารบกวนเลยแม้เปิดวอลุ่มจนสุดแล้วก็ตาม

ใช่ครับ เปิดวอลุ่มจนสุดเลย แต่ได้ความดังแค่พอฟังได้เท่านั้น ถ้าเปิดในห้องใหญ่ๆ ก็คงไม่พอ ก็เลยเข้าใจเอาเองว่าสัญญาณมันก็พามาได้สุดๆ แค่นี้ ซึ่งก็ดีที่ต่อลำโพงลองฟังแค่ข้างเดียว ไม่ต้องลงแรงมากเพราะคาดแต่ต้นแล้วว่าน่าจะไม่เวิร์ค ผมเขียนแผนภาพการต่อแบบไม่ใช้โฟโนตามรูปนี้ครับ
แผนภาพการต่อแบบไม่ใช้โฟโน
ต่อมาผมก็ลองค้นดูในเนตว่ามีใครเขาแก้ปัญหาเรื่องหัวเข็มแบบเซรามิคกับโฟโนปรีแอมป์กันอย่างไรบ้าง ก็ไปเจอคลิปของฝรั่งที่เขาลดความรุนแรงของสัญญาณเสียงด้วยการต่อตัวต้านทานเข้าไป ตัวต้านทานหรือที่ช่างอิเล็กโทรนิคส์เรียกว่าตัวอาร์ (Resister) นั่นและครับ

ในคลิปเขาบอกว่าตัวอาร์แค่ 47 K โอห์มก็พอ ต่อเข้าที่สายสัญญาณเสียงข้างขวาและข้างซ้ายข้างละ 47 K โอห์ม ส่วนสายขั้วลบใช้แค่ 2.2 K โอหม์ ทั้งหมดต่อคั่นกลางระหว่างหัวเข็มกับโฟโนปรีแอมป์

ได้ความดังนั้นแล้วก็จัดแจงไปค้นแผ่นวงจรเก่าๆ พอจะมีตัวอาร์ให้เด็ดออกมาลองใช้หรือเปล่า พบว่าไม่มีพอเลยต้องถ่อไปซื้อถึงบ้านหม้อ ซื้อมาหลายๆ ขนาด 2.2K 47K กับ 75K เผื่อเอาไว้ (มันถูกอ่ะ ตัวละบาท) จากนั้นก็ลองเอามาต่อแล้วลองเล่นดู

ผลคือมันยังเสียงแตกพร่าอยู่ แปลว่าไม่พอ ผมเลยเอาตัวอาร์ทุกตัวเท่าที่มีมาต่ออนุกรม เพื่อให้ความต้านทานรวมมากขึ้น ผลก็คือยังไม่พอ อะไรนี่ ใส่เกือบ 200 Kโอห์มยังเอาไม่อยู่
ระดมใส่ตัวอาร์ยังกับราวใส้กรอกอิสาน

เลยต้องไปบ้านหม้อซื้อมาเพิ่มอีกเป็นรอบที่สอง คราวนี้ได้มาอีกหลายร้อยโอหม์ กะว่าน่าจะใช้ได้ ก็ลองมาต่ออีกที ผลคือยังไม่พอ ทำให้ต้องไปขนตัวอาร์มาอีก และความพยายามในครั้งสุดท้ายนี้ก็สำเร็จ คือพบว่าต้องใช้ตัวอาร์ขนาด 1700 Kโอห์ม ถึงจะลดความแรงของสัญญาณเสียงได้จนไม่เหลืออาการเสียงแตกพร่า การต่อรอบนี้ก็เป็นไปตามแผนภาพนี้ครับ
แผนภาพการต่อโดยใส่ตัวต้านทานเื่อลดความแรงของสัญญาณจากหัวเข็ม
ลองดูคลิปทดสอบการต่อเครื่องเล่นแผ่นเสียง DIY ที่ใส่ตัวอาร์เข้าไป 1700 K หรือ 1.7 เมกะโอห์มเพื่อให้สัญญาณเสียงผ่านเข้าสูโฟโนปรีแอมป์ในระดับที่เหมาะสมกับการขยายเสียง โดยผมได้ทดสอบในเพลงเดียวกัน ลองฟังกันดูครับ 
คลิปทดสอบการต่อตัวอาร์จากหัวเข็มเพื่อลดความแรงของสัญญาณ
ผลการทดสอบรอบนี้คือเบสมาหนาแน่น เวทีเสียงกว้าง ได้มวลของเสียงที่ใหญ่และหนา แต่เสียงกลางและแหลมไม่เด่นมาก ระดับวอลุ่มที่ใช้ในระดับกำลังดีคือประมาณ 60% ของรอบเต็ม เสียงจี่เริ่มโผล่จากที่ซ่อนออกมา เป็นเสียงจี่เบาๆ ไม่ถึงขนาดดังจนรบกวน

จริงๆ ทีแรกเสียงฮัมเสียงจี่รอบนี้มันโผล่ขึ้นมาเยอะมากตามวอลุ่มที่บิดไปมากขึ้น ต้องใช้เวลาหาข้อมูลและทำการปรับปรุงหลายวัน จนฮัมและจี่ลดไปมาก ไว้ว่างแล้วจะมาเขียนว่าได้ทำอะไรไปเพื่อแก้ฮัมแก้จี่ มันยาวมาก ขอตะ๊ไว้ก่อนครับ 

หลังจากได้ทดสอบครั้งนี้ ผมได้ลองฟังกับอีกหลายๆ แผ่น เพลงป๊อบทั่วๆ ไป ก็พอฟังได้ แต่ความสดใสกรุ๊งกริ้งไม่โดดเด่น แต่พอเอาไปเปิดฟังเพลงคลาสสิค บอกเลยมันยอดมาก เสียงไวโอลินไม่แหลมให้รำคาญ เสียงเบสได้เป็นเนื้อเป็นหนัง หลับตาฟังได้อารมณ์ใกล้เคียงในโรงแสดงดนตรีเลย มันเป็นคุณภาพเสียงที่เกินราคารวมของทุกอุปกรณ์แบบเกินความคาดหมายไปมาก

ผลจากการทดสอบครั้งนี้ทำให้เกิดอาการสองจิตสองใจว่าจะลองสั่งหัวเข็มแบบ MM มาลองโมดิฟายใส่เล่น หรือว่าจะหยุดแค่นี้ก่อนดี  เพราะเสียงที่ได้ตอนนี้มันก็ค่อนข้างจะดีมากพอแล้ว

ระหว่างที่ยังไม่ตกลงว่าจะไปต่อหรือไม่ ในขั้นนี้ก็สามารถประกอบกล่องและติดตั้งอุปกรณ์ให้เสร็จเรียบร้อยได้แล้ว เพื่อจะได้หน้าตาที่พอจะไปวัดไปวากับเขาได้ ส่วนจะอัพเกรดไปเป็นเข็ม MM หรือไม่ก็เอาไว้ไปทำทีหลังได้ ได้เรื่องได้ราวอย่างไรก็จะมาลงในบล็อกให้ดูต่อไปครับ

ขอทิ้งท้ายก่อนจากว่าการ DIY เครื่องเล่นแผ่นเสียงด้วยตัวเองนี่มันสนุกจริงๆ เลยครับ การหยิบจับชิ้นส่วนต่างๆ ที่ราคาไม่แพง (หรือบางชิ้นก็เรียกได้เลยว่าโครตถูก) เอามาต่อมาประกอบ มันเป็นอะไรที่ไม่ต้องคิดมากเลย ไม่ต้องมากลัวจะเสียจะพัง (พังก็ซื้อใหม่) ยิ่งเล่น ยิ่งแกะ ยิ่งใส่ ก็ยิ่งรู้ ลองทำแล้วก็ลองฟัง ได้ใช้หูแบบจริงๆ จังๆ ก็คราวนี้ มันน่าทึ่งที่ว่าโฟโนที่ไม่แพงแต่ใครๆ ในเนตก็ยกนิ้วว่าดี มันจะสร้างเวทีเสียงแบบที่หูเราสามารถสัมผัสได้จริงๆ ผมบรรลุเดี๋ยวนี้เองว่าฟังแผ่นเสียงที่ผ่านโฟโนดีๆ มันดีกว่าฟังไฟล์เพลง ผมลองแบทเทิลเพลงเดียวกันจากแผ่นเทียบกับไฟล์เพลงผ่านบลูทูธ พบว่าแผ่นชนะใสแบบไม่เห็นฝุ่นเลย 

ใครๆ ก็บอกว่าเล่นเครื่องเสียงคือหาเรื่องหมดตัว แต่แนวที่ผมเล่นอยู่ไม่ทำให้ขนหน้าแข้งร่วงเลยครับ แถมมันส์มากด้วย

Comments