ลงมือ DIY เครื่องเล่นแผ่นเสียง ตอนที่ 4

มาแล้วสำหรับการปรับปรุงเครื่องเล่นแผ่นเสียง DIY ครั้งใหม่ จากครั้งที่แล้วที่เป็นครั้งแรกของการทดสอบเครื่องเล่นที่ได้ประกอบขึ้นครั้งแรก พบว่ามีทั้งฮัมและทั้งเสียงไม่ค่อยจะเคลียร์ คือมันมัวๆ ไม่สดใส 

ผมได้ไปควานหาข้อมูลในเนตและทำการปรับปรุงใหม่ พร้อมกับต้องลงทุนเรื่องสายเพิ่มอีกหลายร้อยบาท มาลองดูผลลัพธ์การปรับปรุงตามคลิปทดสอบเครื่องเล่นแผ่นเสียง DIY ครั้งที่ 2 นี้ครับ
คลิปทดสอบการปรับปรุงเครื่องเล่นแผ่นเสียง DIY ครั้งที่ 2
อย่างที่ได้ดูในคลิป ตอนนี้เสียงฮัมได้หายมลายสิ้นไปแล้ว เนื้อเสียงเริ่มมีความชัดใสมากกว่าเดิมมาก แต่ยังมีเสียงแผดในช่วงที่ดนตรีเล่นดัง อย่างตอนที่เป็นเสียงเครื่องเป่า เสียงจะเกินความสดไปจนกลายเป็นแผดหรือแตกซ่า อันนี้ก็ต้องเก็บเอาไปหาทางปรับปรุงต่อไป

เรื่องเสียงฮัมที่หายไปนั้น พบสาเหตุ 2 อย่าง อย่างแรกคือไม่ได้ต่อสายไฟลงกราวน์ เดิมผมใช้ปลั็๊กไฟแบบ 2 ขา (ไม่มีขากราวน์) เลยทดลองต่อสายจากแอมป์จิ๋วที่มีรูปสัญลักษณ์กราวน์ไปเสียบต่อเข้ารูปลั๊กกราวน์ พบว่าเสียงฮัมหายไป ดูตามคลิปนี้เลยครับว่าทดลองอย่างไร
ทดสอบต่อกราวน์เพื่อแก้เสียงฮัม
พอรู้ว่าต้องทำอย่างไรแล้วก็จัดการเปลี่ยนหัวปลั๊กไฟให้มีขากราวน์ และที่สำคัญคือต้องเสียบกับปลั๊กไฟที่ต่อกราวน์ลงดินด้วย หากเอาไปเสียบกับปลั๊กพ่วงที่ไม่ได้ต่อไฟสายดินก็ไม่ได้เรื่อง ฮัมเหมือนเดิม เพราะไม่มีการต่อกราวน์นั่นเองครับ

 เสียงฮัมแก้ไขด้วยการต่อกราวน์
นอกจากสาเหตุของการฮัมที่เกิดจากการไม่ได้ต่อกราวน์แล้ว สาเหตุที่ 2 คือการใช้แหล่งจ่ายไฟเข้าเครื่องมากกว่า 1 แหล่ง เดิมผมกะว่าจะใช้อะแดปเตอร์ไฟ DC 2 ตัวจ่ายไฟ 12 โวลต์เข้ามอเตอร์หมุนแผ่นเสียง 1 ตัว กับอีกตัวที่จ่าย 19 โวลต์ไฟเข้าแอมป์ 1 ตัว การทำแบบนี้เสี่ยงต่อการเกิดฮััม ผมเลยแก้ไขใหม่โดยตัดอะแดปเตอร์ตัวที่โวลต์ต่ำกว่าออกไป

แล้วจะเอาไฟจากไหนมาจ่ายเข้ามอเตอร์หมุนแป้นแผ่นเสียง ผมก็เลยดึงมาจากไฟกระแสตรง 19 โวลต์ที่ออกจากอะแดปเตอร์ตัวที่จ่ายไฟเข้าแอมป์จิ๋ว เอาอุปกรณ์ลดแรงดันไฟกระแสตรง (IC Regulator) เข้าไปใส่ ลดจาก 19 โวลต์เหลือ 12 โวลต์ ตามรูปนี้
ชิ้นส่วนอิเล็กโทรนิคส์เพื่อลดแรงดันไฟ (ชุด IC Regulator)
ตัวสำคัญคือตัว 3 ขาตรงกลาง เป็นชิ้นส่วนทีเรียกว่า IC รหัส 7812 ตัวซ้ายคือฮีตซิ้งก์เอาไว้ระบายความร้อนจากตัว IC เอาสกรูยึด IC กับฮีตซิ้งก์ให้แนบกัน ราคา IC 15 บาท ฮีตซิงก์ 10 บาท ตัวขวาสุดเป็นตัวเก็บประจุ(Capacitor) ตัวเก็บประจุนี้จะช่วยให้ไฟที่ออกมาเรียบสม่ำเสมอขึ้น ถ้าไฟนี้นำไปใช้กับอุปกรณ์ที่ละเอียดอ่อนก็ควรใส่ แต่ของผมไฟเอาไปจ่ายมอเตอร์ เลยไม่ใส่ (เดาว่าไม่ละเอียดอ่อนมาก) 

วิธีการใช้ชุดลดกระแสไฟนี้ดูจากยูทูปแล้วง่ายมาก ขาซ้ายเป็นไฟ+ขาเข้า 19 โวลต์ ขากลางต่อกับไฟ-ทั้งขาเข้าและขาออก ส่วนขาขวาเป็นไฟ+ขาออก 12 โวลต์ ผมต่อแบบสดๆ เลย ตามรูปนี้ครับ ดิบมากๆ
 ชุด IC Regulator ที่ต่อแบบดิบๆ บัดกรีได้หยดและย้อยมากๆ

ปัญหาเรื่องฮัมหมดไปแล้ว คราวนี้ถึงเรื่องว่าทำไงเสียงถึงได้ดีขึ้น รอบนี้ผมเปลี่ยนสายสัญญาณเสียง สายลำโพงและสายไฟ DC ใหม่หมด

สายสัญญาณเสียงเดิมที่ผมใช้ครั้งก่อนเป็นสาย RCA ที่แถมมากับพวกเครื่องเล่น VCD จากจีนแดง เป็นของเหลือใช้เลยคว้าๆ มาลองต่อ ผลคือให้เสียงแบบที่ไม่ดีเท่าที่ควร ถามในพันทิพว่าควรใช้สายแบบไหน หลายท่านแนะนำว่าควรใช้สายชิลด์ แล้วสายชิลด์เป็นยังไง

สายชิลด์คือสายที่มีการถักสายโลหะหุ้มห่อฉนวนสายสัญญาณอีกชั้นหนึ่ง เนื่องจากในอากาศมีสัญญาณวิทยุ สัญญาณคลื่นต่างๆ ที่ตามองไม่เห็นวิ่งไปมามากมาย สัญญาณคลื่นพวกนี้วิ่งทะลุทะลวงอิฐหินดินทรายไม้น้ำได้ แต่เมื่อไปชนโลหะมันก็จะถูกโลหะดูดซับไป แบบที่เราเอาเสาก้างปลาไปรับสัญญาณทีวีนั่นแหละ 

คราวนี้ถ้าเราใช้สายสัญญาณทั่วไปที่ไม่มีการชิลด์ สัญญาณคลื่นต่างๆ ก็จะถูกสายสัญญาณดูดซับไปด้วย ทำให้สัญญาณเสียงที่เราอยากให้ส่งผ่านไปเฉพาะสัญญาณที่เราต้องการก็จะถูกปนเปื้อนไปด้วยสัญญาณรบกวน แต่ถ้าสายสัญญาณเส้นนั้นมีการชิลด์หรือห่อหุ้มด้วยสายโลหะถักหุ้มป้องกันไว้ มันก็จะทำหน้าที่ดูดซับสัญญาณรบกวนไว้เป็นด่านแรกไม่ให้เหลือไปถึงสายสัญญาณชั้นใน

มาดูภาพเปรียบเทียบสายเก่ากับสายใหม่ที่ผมไปหาซื้อมาจากบ้านหม้อตามรูปนี้ครับ
สายเดิมเป็นสายแถม สายใหม่ชิลด์หนาถึง 2 ชั้น
เห็นชัดเลยว่าสายเดิมมีสาย+เป็นสายทองแดงที่อยู่ด้านในแล้วมีสายทองแดงบางๆ หุ้มรอบนอกทำหน้าที่ส่งสัญญาณขั้ว- เปรียบเทียบกับสายใหม่ที่ผมหามา เป็นสายทองแดงในฉนวนเส้นในเหมือนกันแต่ถูกหุ้มด้วยสายเงินถัก แถมถักให้ 2 ชั้นเลย ผมเอาสายนี้มาเดินแยกสาย+ สาย- แยกกันไปเลย สายนี้ราคาเมตรละ 80 บาท ระยะเดินสายก็สั้นนิดเดียว ไม่ได้สิ้นเปลืองอะไรมาก ผมซื้อมา 2 เมตรใช้ได้แบบเหลือๆ

นอกจากจะใช้สายสัญญาณใหม่แล้ว การต่อเชื่อมระหว่างอุปกรณ์ผมก็จะหลีกเลี่ยงการใช้หัวต่อ(Connector) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าหัวแจ๊ก เพราะถ้าหัวแจ๊กเสียบไม่สนิทก็จะเป็นสาเหตุให้ฮัมได้ ผมเลยบัดกรีสายเข้ากับขาของหัวต่อตัวรับไปเลย ประหยัดค่าหัวแจ๊กไปได้อีก
หลีกเลี่ยงการเสียบหัวแจ๊ก ไปเชื่อมสายเข้าที่ขาเลย ตัดปัญหาเสียบไม่สนิทแล้วฮัม

สายอีกประเภทที่ลงทุนเปลี่ยนคือสายลำโพง เหตุที่เปลี่ยนเพราะสายเดิมมันสั้น ระยะไกลสุดของลำโพง 2 ตัวมันได้นิดเดียว เลยอยากได้ที่ยาวกว่าเดิม เขาบอกว่าสายพวกนี้ใหญ่กว่าก็จะดีกว่า เลยจัดไปตามรูปนี้ จากบ้านหม้อเช่นเดียวกัน เมตรละ 50 บาท
สายลำโพงเส้นใหม่ขนาดใหญ่กว่าเดิม
ส่วนสายไฟ DC ผมก็เอาสาย DC ของสายโน๊ตบุคส่วนที่ตัดออกและไม่ได้ใช้แล้วมาใช้แทน ก็คิดว่าถ้าใช้กับโน๊บุคได้ก็น่าจะดีพอสำหรับใช้จ่ายไฟ DC ในเครื่องเล่นแผ่นเสียงครับ(มโนล้วนๆ)

กลับมาที่การทดสอบครั้งนี้ ผมลองจับทุกอุปกรณ์ยัดเข้าไปในท้องเครื่องเล่นเพื่อจะดูว่าพอยัดไหวไหม ผลก็คือพอจะยัดได้ นี่เป็นรูปที่ผมยัดแบบซี้ซั้วเข้าไป
อุปกรณ์ชิ้นส่วนต่างๆที่ยัดเข้าในท้องเครื่องเล่นแผ่นเสียง
ระหว่างที่ทดสอบการเล่นก็ดูไปด้วยว่าเส้นสายต่างๆ จะไปเกี่ยวไปพันกับกลไกเคลื่อนไหวของก้านเข็มแผ่นเสียงรึเปล่า ผลทดสอบคือไม่มีปัญหา แปลว่าความสูงของกล่องที่ 5 ซม. เป็นไปได้

ผมทำแผนภาพแบบง่ายๆ ในการต่ออุปกรณ์ต่างๆ ของการทดลองในรอบนี้ตามภาพต่อไปนี้ครับ
แผนภาพการเดินสายเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ
จากแผนภาพจะเห็นว่ารอบนี้ใช้แหล่งจ่ายไฟเข้ามาแหล่งเดียว แล้วมากระจายจ่ายต่อไปแปลงเป็นไฟย่อยๆ ไปเลี้ยงอุปกรณ์ต่างๆ ทำให้ลดการฮัมได้ มีตัวที่เพิ่มขึ้นมาคือ IC 7812 หรือชุดลดแรงดันไฟที่ผมเอามาสำหรับจ่ายไฟให้มอเตอร์แทนที่จะใช้อะแดปเตอร์แบบคราวก่อน

มาถึงตรงนี้ก็ยังขอบอกว่าการ DIY เครื่องเล่นแผ่นเสียงขึ้นเองเป็นเรื่องสนุกและกระตุ้นการเรียนรู้ตลอดเวลา เดี๋ยวนี้สามารถใช้มัลติมิเตอร์ได้คล่องมือแล้ว ทักษะการบัดกรีและการปอกสายไฟก็มีมากขึ้น เริ่มสนุกกับการเดินตลาดอะไหล่วงจรเครื่องไฟฟ้าเก่าแบกะดิน หรือเวลาว่างๆ ก็จะแกะเครื่องใช้ไฟฟ้าพังๆ ในบ้านมาดูว่าอะไรที่มันเสีย มีชิ้นส่วนไหนที่ไม่ทำงาน เช็คตัว C ตัว R ไดโอด ฯลฯ

แล้วรอบหน้าถ้าผมปรับปรุงเครื่องเล่นแผ่นเสียง DIY ตัวนี้คืบหน้าอย่างไรก็จะเอามาเล่าให้ฟังต่อครับ

Comments