โครงการประกอบเครื่องเล่นแผ่นเสียง DIY

ที่บ้านมีเครื่องเล่นแผ่นเสียงเก่าอยู่เครื่องหนึ่ง เป็นแบบกระเป๋าหิ้วของ Philips รุ่น 22 GF 632/33 ออกขายในปี 1967 นับถึงวันนี้ก็เกือบ 50 ปีแล้ว เครื่องก็ค่อนข้างจะทรุดโทรมตามกาลเวลา ผิววีเนียร์ไม้ด้านนอกก็เริ่มลอกร่อนบางส่วน แผ่นยางรองแป้นหมุนก็กรอบหักไปนานแล้ว พ่อก็ตัดแผ่นพีวีซีมาใส่แทน เสียงทุ้มก็หายไปหมดแล้ว เหลือแต่เสียงแหลมเสียงกลางที่ยังขับออกมาได้อยู่ ลูกล้อหมุนขับแป้นแผ่นเสียงก็สึกไปบ้าง มอเตอร์หมุนเคยทำงานช้าลง ยกไปให้ช่างซ่อม จ่ายไป 2000 บาท ช่างก็แก้ให้ได้หมุนดีขึ้น และเข็มก็หาซื้อยาก เข็มเทียมที่มาขายก็ขายกันอันละ 500 บาท ซึ่งมันค่อนข้างจะแพง แถมติดยางสก๊อตเทปตรงปลายเข็มอีก ต้องล้างปลายเข็มก่อนใช้ ไม่งั้นก็จะกวาดฝุ่นติดเป็นกองบะเร่อ

คลิปนี้เป็นเครื่องของคนอื่นที่สภาพยังดีมาก ดูแล้วมันยังสวยกว่าเครื่องเรามาก

ในอีเบยก็มีประกาศขายเครื่องเล่นแผ่นเสียงของฟิลิปส์เก่าๆ อยู่ แต่โดยมากมักเป็นเครื่องที่พังแล้ว ขายเพื่อให้เอาไปเป็นอะไหล่หรือเอาบางส่วนไปใช้ทดแทน คิดเป็นเงินไทยออกมาก็ประมาณเกือบหมี่นบาทยังไม่รวมค่าขนส่ง ไม่อยากเชื่อว่าเครื่องพังๆ ยังมีราคาขนาดนั้น

เลยคิดว่าน่าจะเก็บเครื่องเก่าขึ้นหิ้ง รักษาไว้เป็นสมบัติของตะกูลดีกว่าเอามาทู่ซี้ใช้ต่อ ของเราก็ยังดีๆ อยู่ แค่ต้องเปลี่ยนวงจรขยายเสียงข้างในใหม่เท่านั้นเอง ลำโพงก็ยังดีอยู่ ขนาดก็ใหญ่ด้วย ขับเบสออกได้สบายมาก

ถ้าอย่างนั้นก็ต้องหาเครื่องใหม่มาทดแทน ลองค้นดูในกูเกิลและยูทูบ เครื่องที่ราคาไม่แพงก็มีแบบบิ้วอินมาให้ทุกอย่าง แค่เสียบปลั๊กก็วางแผ่นเล่นได้เลย มีลำโพงและภาคขยายเสียงมาพร้อม ราคาก็มีตั้งแต่ห้าพันยันหมื่นกว่าบาท 

เครื่องเล่นที่ราคาถูกๆ มักจะให้เสียงไม่ดี ลำโพงเล็ก ส่วนอันที่ราคาแพงขึ้นมาเสียงก็อาจจะดีขึ้นมาหน่อย แต่ก็มีขนาดใหญ่เทอะทะ เครื่องเล่นที่มีครบทุกอย่างแบบ All in one นี้สะดวกกับผู้เล่นเริ่มต้นที่ไม่ต้องการจ่ายเยอะ พอใจกับคุณภาพเสียงพื้นๆ ไม่ต้องวุ่นวายกับการหาเครื่องอื่นๆ มาประกอบเพิ่มเติม
ส่วนเครื่องเล่นอีกแบบคือแบบแยกชิ้น พวกนี้มักเป็นเครื่องเล่นอย่างเดียว อย่างมากก็ติดภาคขยายเสียงจากหัวเข็มหรือที่เรียกกันว่าปรีโฟโน (Pre phono) มาพร้อมในตัวเครื่องเล่นแผ่นเสียง เวลาซื้อมาเล่นก็ต้องหาเครื่องขยายเสียง (Amplifier) และลำโพง (Speaker) มาต่อเองอีก พวกนี้ให้เสียงที่ดีกว่า คุณภาพเสียงก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของแต่ละส่วนประกอบ และยังมีเรื่องความเข้ากันได้ของแต่ละส่วนประกอบด้วยที่มีผลต่อเสียง 

เครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบแยกชิ้นมักมีราคาที่สูงกว่า อย่างเริ่มต้นก็ประมาณ 8 พันขึ้นไป อุปกรณ์ชิ้นส่วนอะไหล่ทดแทนก็มักจะแพงตามไปด้วย แค่ปลายเข็มก็พันห้า
การเลือกเล่นเครื่องเล่นแผ่นเสียงต้องพิจารณาที่ตัวเองก่อนว่าต้องการอะไรจากการเล่น บางคนบอกว่าต้องการคุณภาพเสียงที่ดีสุดๆ แน่นอนว่ามันดีกว่าฟังจากซีดีหรือไฟล์ดิจิตัลแน่ๆ ดังนั้นก็ต้องเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงแยกชิ้นระดับไฮไฟ ซึ่งราคาก็มักจะแพง อีกทั้งต้องควักเงินซื้อเครื่องขยายเสียงและลำโพงคุณภาพสูงมาต่อเพื่อให้เล่นแผ่นเสียงได้คุณภาพเสียงออกมาดีๆ ได้


หลายคนก็มีแผ่นเสียงเก่าๆ ที่เป็นมรดกติดบ้านก็อาจจะลองหาเครื่องเล่นมาเปิดฟัง ก็ต้องมาดูว่าจะเล่นแค่เอาอารมณ์คิดถึงความหลังหรือจะให้เลยเถิดไปถึงขั้นต้องกลั่นเสียงให้ได้คุณภาพดี

บางคนที่เป็นมือใหม่อยากลองเล่นแผ่นเสียงดูบ้าง อาจจะเพราะกระแสของการกลับมาเกิดใหม่ของแผ่นเสียงหรือความคูลความเท่ หรือเพราะความต้องการลิ้มรสคุณภาพเสียงและอารมณ์แบบอะนาล็อก

ไม่ว่าความต้องการเล่นแผ่นเสียงจะเป็นแบบใด ตลาดเครื่องเล่นแผ่นเสียงในยุคนี้ก็มีรองรับครบเกือบทุกความต้องการ ขึ้นอยู่กับงบประมาณของผู้เล่นว่าจะจ่ายได้มากน้อยแค่ไหน

นอกจากเงินก้อนแรกที่ต้องจ่ายซื้อเครื่องเล่นมาได้แล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายอีกในเรื่องของการซื้อแผ่นเสียงเพื่อมาเล่น ราคาแผ่นก็มีตั้งแต่ถูกๆ ระดับไม่ถึงร้อยบาทยันหลักหลายพันบาทต่อแผ่น ทั้งที่เป็นของเก่าและของใหม่ ขึ้นอยู่กับสภาพของแผ่นและอยู่ในความนิยมแค่ไหน

พอเล่นๆ ไปชิ้นส่วนบางอย่างก็มีอายุการใช้งานที่ต้องเปลี่ยนไปตามความสึกหรอจากการใช้งาน เช่น ปลายเข็ม สายพาน พวกนี้ก็ต้องเตรียมเงินไว้อีก ถ้าเปลี่ยนเองไม่เป็นก็ต้องยกไปให้ช่างหรือศูนย์ทำให้

เรียกได้ว่าการหาความสุขจากการฟังแผ่นเสียงมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการฟังเพลงผ่านสื่อดิจิตัลที่เผยแพร่กันแบบฟรีๆ หรือที่ไม่แพงแบบในยุคปัจจุบัน ดังนั้นที่เขาว่ากันว่าการเล่นแผ่นเสียงเป็นเรื่องของคนมีสตางค์ก็ไม่ผิด จะต่างกันตรงที่ใช้สตางค์มากหรือน้อยเท่านั้น

อย่างผมตอนนี้ก็อยากได้เครื่องเล่นใหม่มาแทนเครื่องเก่าอายุ 50 ปี กะจะเอาไว้เปิดเพลงที่พ่อกับแม่ชอบเปิดให้ฟังตอนยังเด็กๆ มันทำให้นึกถึงคืนวันเก่าๆ คุณภาพแผ่นเดิมที่มีติดบ้านอยู่ก็จัดอยู่ในเกรดแผ่นคุณภาพต่ำ เวลาเล่นก็จะมีเสียงกรอบแกรบหรือที่เรียกว่าฝนตก เนื่องจากฝึมือการขูดขีดเล่นของผมเองเมื่อครั้งยังไม่ประสีประสา แต่เวลาได้ฟังทีไรมันก็เพราะทุกที

การจะคิดซื้อแผ่นมาเล่นก็คงเลือกซื้ออัลบั้มที่ชอบจริงๆ ซึ่งในยุคที่ผมฟังแบบจริงๆ จังๆ ก็เป็นเพลงจากยุคเทปคาสเซ็ทและแผ่นซีดีซึ่งเดี๋ยวนี้หาเครื่องจะเล่นได้ยากแล้ว กะว่าเอามาฟังเพลงที่ชอบๆ และควานหาไม่ได้อีกแล้วในยูทูบ

แต่การจะควักเงินจ่ายเป็นหลักหมื่นเพื่อความต้องการนี้ก็อาจจะหนักเกินไปสำหรับคนขี้เหนียวอย่างผม แต่ครั้นจะไปหาเครื่องเล่นแบบ All in one ที่ให้เสียงคุณภาพพื้นๆ ก็ทำใจไม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของโครงการประกอบเครื่องเล่นแผ่นเสียงเอาไว้เล่นเอง ก็ต้องมาดูกันต่อไปว่าจะทำกันได้อย่างไร

Comments