ลงมือ DIY เครื่องเล่นแผ่นเสียง ตอนที่ 2

มาถึงตอนที่ 2 ของการ DIY ทำเครื่องเล่นแผ่นเสียงด้วยตัวเอง ตอนนี้จะเล่าถึงการออกแบบและทำตัวถังหรือกล่องเครื่องเล่นแผ่นเสียง ขอให้ได้ดูภาพผลลัพธ์ของขั้นตอนนี้กันก่อน
เครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ได้ออกแบบและประกอบแบบเบื้องต้น ยังไม่ Final
กว่าจะได้แบบภาพข้างบนก็ผ่านการลงมือหลายวันทีเดียว จะค่อยๆ เล่าให้ฟังว่าได้ทำอะไรไปบ้าง

คอนเซ็ปต์ที่ตั้งไว้สำหรับเรื่องหน้าตาคือเอาแบบที่เรียบง่าย ดูดี และประหยัดด้วยการใช้สิ่งของที่เหลือใช้ในบ้านมาเป็นวัตถุดิบ

มองไปรอบตัวก็ไม่เห็นอะไร เลยต้องมุดเข้าไปดูในที่เก็บของ คุ้ยๆ เขี่ยๆ ก็ไปเจอของที่น่าจะเอามาใช้งานได้ อย่างแรกก็คือเจ้านี่
แผ่นชั้นไม้วางของเหลือใช้ในบ้าน
มันคือชั้นไม้ทำจากแผ่น MDF ปิดผิวเป็นลายไม้สักสวยงาม ขนาดของมันคือ 30 x 120 ซม. หนา 1.5 ซม. สภาพยังดี 95% ผิวลายบางส่วนลอกเห็นเนื้อ MDF ผิวบางส่วนเริ่มพอง แต่คิดว่าสามารถเอามาใช้งานได้ ขัดกระดาษทรายใหม่แล้วปิดผิวใหม่ก็จะดูดี

สิ่งต่อไปที่ไปค้นเจอคือยางกันกระแทกประตู เคยซื้อมาติดหลายบาน แต่นี่คือเหลือ เหลืออยู่ 4 อันพอดี น่าจะเอามาทำขายางรองได้
Door stop ที่เหลือจากตอนสร้างบ้าน เอามาทำขายางรองเครื่อง
แค่นี้ก็น่าจะพอเอามาทำกล่องหรือหีบเครื่องเล่นแผ่นเสียงแล้ว ต่อมาก็ต้องออกแบบว่าจะออกมาหน้าตาแนวไหน สุดท้ายก็มีปัญญาเค้นออกมาได้ประมาณนี้
ผลงานการออกแบบเครื่องเล่นแผ่นเสียงของตัวเอง
รูปแบบกล่องเครื่องเล่นแผ่นเสียงเป็นแบบที่เรียบๆ มากๆ ตรงด้านหน้ามีปุ่มปรับเสียง ส่วนสายไฟเข้าออกไปอยู่ด้านหลัง ด้านบนไม่มีอะไรนอกจากตัวเครื่องเล่นเท่านั้น
พอได้รูปแบบแล้วก็มาถึงขั้นการลงมือตัดไม้ตีกล่อง จากชิ้นไม้ก็มาตัดขนาดตามแนวสีเหลือง
พอตัดได้ครบ 6 ชิ้นแล้ว แผ่นบนที่เราจะเอามาวางตัวเครื่องเล่นก็ต้องเอามาเจาะเพื่อจะได้เอาเครื่องเล่นวางสอดลงไปได้ แต่จะตัดเจาะตรงแนวไหนก็ต้องเอาตัวเครื่องเล่นมาวัดและลองตัดบนกระดาษเสียก่อน ก็ลองผิดลองถูกอยู่นิดหน่อย ในที่สุดก็ได้แบบมาเป็นแผ่นนี้
หงายแบบกระดาษลองวางเครื่องเล่นแผ่นเสียง
พอได้แบบกระดาษก็เอาไปทาบกับแผ่นไม้แล้วลอกแนวตัดตามแบบ
ลงทุนซื้อเลื่อยจิ๊กซอ 365 บาทจาก Shopee เพื่อการนี้
ตัดไปวางไป จนกว่าจะลงได้แบบสนิท

ในที่สุดก็ได้ชิ้นไม้ครบถ้วนตามรูปนี้
ชิ้นไม้ที่ตัดพร้อมสำหรับประกอบเป็นกล่องเครื่องเล่นแผ่นเสียง
จากนั้นก็ลองประกอบชิ้นไม้โดยจับตั้งแบบยังไม่มีการยึดกาวหรือตะปูใดๆ แค่ลองวางดูหน้าตาในเบื้องต้นดูก่อน

ตัวกล่องสำหรับยัดเครื่องในต่างๆ
ลองจัดแอมป์จิ๋วกับอแดปเตอร์ใส่ไปก่อน น่าจะเหลือที่ให้ Phono กับหม้อแปลงอีก 2 ตัว


หน้าตาเมื่อวางเครื่องเล่นแผ่นเสียงบนกล่องแล้ว


ใส่ขายางรองใต้กล่อง จับยกง่ายและดูดซับแรงสะเทือน
หน้าตาเมื่อแรกเห็นรู้สึกเลยว่ามันหนาเทอะทะมาก ทำให้ดูเชยแหลก เหมือนเครื่องเล่นเมื่อ 100 ปีก่อน อาจจะเพราะความสูงของแผ่นข้างที่มากถึง 7.5 ซม. บวกกับความหนาของแผ่นบนและแผ่นล่างอีก ทำให้ความหนาของกล่องเป็น 10 ซม. มันหนามาก ไม่เดิ้นเท่าไหร่

ยิ่งลองเอามาวางตรงชั้นวางเหนือทีวี ยิ่งดูไม่ค่อยสวยมากเท่าไหรเพราะมันดูหนา

ถ้าตัวกล่องบางกว่านี้ลงอีกหน่อยคงดูสวยขึ้น 
นี่ก็เป็นหน้าตาเบื้องต้นของเครื่องเล่นแผ่นเสียง DIY ของผม เป็นการประกอบแบบวางต่อกันเฉยๆ ไม่ได้ยึดกาวหรือตะปูน๊อตแต่อย่างใด แค่ให้เห็นหน้าตาคร่าวๆ ซึ่งเท่าที่ดูรู้สึกว่าเครื่องหนาไปนิด เลยดูโบราณ 

แต่คิดว่ายังสามารถหั่นให้บางลงได้ เพราะใส้ในอย่างแผงวงจรขยายเสียงและตัวหม้อแปลงก็ไม่ได้สูงอะไรมาก แต่จะหั่นได้แค่ไหนต้องได้ตัวชิ้นส่วนเครื่องในทั้งหมดมาวางดูก่อน

จากนี้ไปก็จะเป็นขั้นตอนการประกอบงานด้านไฟฟ้าและอืเลกโทรนิกส์ ซึ่งขอบอกเลยว่าสนุกตื่นเต้นมากสำหรับคนไม่เคยงานไฟฟ้าทั้งแรงสูงและแรงต่ำ จะว่าสนุกอาจจะทำให้ไขว้เขวและเชิญชวนมากไป ใช้คำว่าอันตรายอาจจะเหมาะกว่า เพราะไฟบ้านดูดคนได้ถึงตาย อันนี้ต้องระวังเป็นพิเศษ ซึ่งทั้งหมดจะไปว่ากันในตอนต่อไปครับ

Comments