รีวิวชิ้นส่วน พาวเวอร์แอมป์ (มินิแอมป์)


คราวนี้จะรีวิวชิ้นส่วนแผงวงจรเพาเวอร์แอมป์ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญอีกตัวหนึ่งในระบบเครื่องเล่นแผ่นเสียง DIY ของผม เพาเวอร์แอมป์หรือแอมปลิไฟเออร์ (Amplifier) ทำหน้าที่ขยายกำลังของสัญญาณเสียงแล้วขับออกมาเป็นเสียงดังๆ ผ่านลำโพง
วงจรเพาเวอร์แอมป์ที่ผมใช้ก็เป็นวงจรขนาดเล็ก เขาเรียกว่า “มินิแอมป์” มีขายบนเนตทั้งผู้ขายในประเทศหรือจะสั่งตรงจาก Aliexpress ก็มีให้เลือกเยอะแยะ

ผมได้ดูจากรีวิวสินค้าหลายตัวก็มาพอใจกับแผงวงจรตัวนี้ เป็นวงจรผสมของวงจรรหัส TPA3116 + LM1036 ราคาก็ถูกมาก ขนาดก็เล็กดี น่าจะจับยัดใส่กล่องเครื่องเล่นแผ่นเสียงของผมได้ ก็เลยสั่งซื้อมาจาก Aliexpress จากผู้ขายรายนี้ในราคา 21.46 เหรียญยูเอส ค่าส่งฟรี

สเปกของวงจรโดยคร่าวๆ คือเป็นวงจรคลาส D ใช้ไฟ  DC 18-24 V บลูทูธ 4.0 ระยะรับสัญญาณ 10 เมตร เอ๊าท์พุท 2x50w (พอดีกับสเปกลำโพงของผมพอดีที่ขนาด 50w)

10 วันหลังจากที่ได้สั่งไป ของก็ส่งมาถึงบ้าน แพ๊คมาแน่นหนาปลอดภัย แกะออกดูทุกอย่างเรียบร้อยดีไม่มีปัญหา
จุดต่อสายไฟและสายสัญญาณเสียงก็ไม่ได้วุ่นวายหรือเข้าใจยากเพราะมีคนรีวิวให้ข้อมูลกันเยอะ ตัวปุ่มบิดควบคุมเสียงมาแบบเป็นแกนหมุนดิบๆ ผมก็ไปหาซื้อปุ่มครอบที่บ้านหม้อปุ่มละประมาณ 5 บาท
 สายสีแดงกับดำคือต่อไปออกลำโพง สายสีเหลืองคือสายต่อกราวน์
รูแจ๊กรับสายสัญญาณเสียงขาเข้า รูซ้ายรูขวา แต่ผมเล่นเชื่อมสายเข้าใต้ขาของแจ๊กครับ
 รูแจ๊กดำๆ ตรงมุมของวงจรเป็นจุดรับไฟเข้า ใช้แจ๊ก 5.5x2.5 มม, ในบวก นอกลบ
ยึดแผงวงจรกับหน้ากากอะครีลิก
เวลาเอามาใส่ก็คือเอาตรงแกนบิดเสียงไปยึดกับแผงหน้าปัดอะไรก็แล้วแต่แล้วไขน๊อตตัวบางๆ ที่มีให้มาด้วยอยู่แล้ว ทีแรกผมลองยึดกับไม้บรรทัดพลาสติกบางๆ ก็อยู่ได้แข็งแรงดี สุดท้ายก็เลยหาแผ่นอะครีลิคมาใช้แทน
มีทริกนิดหน่อยเรื่องการเดินสายครับ คือตรงสายสัญญาณเข้า ผมไม่ได้ใช้แจ๊กเสียบครับ เพราะหากต่อไปขั้วแจ๊กหลวมหรือเสียบไม่สนิทก้อาจจะเกิดเสียงฮัมได้ ผมใช้วิธีบัดกรีสายสัญญาณต่อเข้าไปที่ขาของเต้ารูเสียบแจ๊กเลยครับ วิธีไล่ขาว่าขาไหนสายไหนก็ต้องใช้มัลติมิเตอร์เช็คดูได้ครับ
ผมใช้บัดกรีสายต่อเข้าที่ขาของแจ๊กครับ ลดโอกาสเกิดฮัมและไม่ต้องซื้อแจ๊ก
และก็มีอีกจุดหนึ่งที่ผมเห็นครั้งแรกแล้วงงแตกว่าตรงนี้คืออะไร เป็นรูที่อยู่ตรงข้างๆ ลูกบิดวอลุ่ม มีรูปสัญญลักษณ์กราวน์ด้วย ถามคนในพันทิปเขาบอกเป็นจุดเอาไว้ต่อกราวน์เพื่อเอาสัญญาณคลื่นรบกวนต่างๆ (ที่อาจจะทำให้ระบบเสียงเกิดการฮัม) ทิ้งออกไป ตัวอย่างเช่นถ้าตัวกล่องเครื่องเล่นแผ่นเสียงเป็นโลหะ เจ้าตัวโลหะของกล่องก็จะดูดซับคลื่นวิทยุต่างๆ ในอากาศ เราก็แค่เชื่อมสายจากจุดกราวน์นี้แล้วไปแตะติดกับตัวโลหะ เพียงเท่านี้คลื่นต่างๆ ที่โลหะดูดซับไว้ก็จะไหลมาลงกราวน์ตรงนี้ แล้วก็ไหลออกไปกับสายไฟที่มาเลี้ยงมินิแอมป์
จุดต่อกราวน์
ขอกระโดดไปรีวิวเรื่องการใช้งานเลย เจ้าวงจรนี้สามารถขยายสัญญาณเสียงที่ต่อเข้าทางสายเข้า (line in) และก็สามารถรับสัญญาณเข้าได้ทางบลูทูธ เลยทำให้ชุดเครื่องเล่นแผ่นเสียงของผมสามารถใช้เปิดเพลงผ่านบลูทูธได้ ผมก็ใช้มันทั้งสองอย่างเลย บางทีก็เปิดแผ่น บางทีก็เปิดจากบลูทูธมือถือ
 
พอเสียบปลั๊กไฟจะใช้งานเครื่องจะมีเสียงคลิก 3 ครั้งดังมาจากตัวรีเลย์ในวงจรมินิแอมป์ เป็นเสียงคลิกเบาๆ ไม่รู้สึกว่าน่ารำคาญ พอเปิดสวิทช์วงจรที่แผงด้านหน้า หลอดไฟแอลอีดีสีแดงก็จะสว่างแสดงสถานะว่าเครื่องพร้อมทำงานแล้ว ถ้าเพียงผมเปิดแผ่นเสียง เสียงก็จะออกมาเลย ไม่ต้องไปทำอะไร แต่ถ่าผมอยากจะฟังเพลงจากมือถือ ผมก็ต้องเปิดสัญญาณบลูทูธในมือถือแล้วก็เชื่อมต่อกับสัญญาณบลูทูธจากแผงวงจรที่ปล่อยออกมา พอมันจับคู่สัญญาณกันได้เรียบร้อย ผมก็สามารถเปิดไฟล์เพลงในมือถือ หรือจะเปิดคลิปยูทูป เสียงก็จะมาออกลำโพงของชุดเครื่องเล่นแผ่นเสียง

แต่มีสิ่งที่น่ารำคาญมากอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อฟังผ่านบลูทูธคือ เมื่อสัญญาณบลูทูธจับคู่กัน หรือเมื่อผมกดเลือกเพลงในยูทูป หรือเมื่อหมดสัญญาณเพลงจากคลิปยูทูป มันจะมีเสียงดังคล้ายเสียงเวลาไมค์ตกกระแทกลงพื้น มันดัง ปั๊ก ๆ ประมาณนี้ ยิ่งถ้าปุ่มวอลุ่มอยู่ที่ดังหน่อยมันก็จะเป็นเสียงที่ดังน่ารำคาญมาก 

ดังนั้นเวลาที่ผมจะเลือกฟังผ่านบลูทูธ ผมก็จะหลีกเลี่ยงเสียงรำคาญที่จะเกิดขึ้นนี้ด้วยการหรี่วอลุ่มลงไปก่อน พอคลิปยูทูปเริ่มเดินแล้วผมถึงค่อยบิดเร่งวอลุ่มขึ้นไปจนถึงระดับที่ต้องการ และเมื่อคลิปจะจบ ผมก็ต้องหรี่วลลุ่มลงก่อนที่คลิปจะจบเพื่อจะได้ไม่ต้องรำคาญกับเสียง ปั๊ก! เมื่อหมดสัญญาณจากคลิป อันนี้เป็นเรื่องเดียวที่เป็นจุดตำหนิของการฟังจากบลูทูธ แต่ถ้าฟังผ่านเครื่องเล่นแผ่นเสียงไม่มีปัญหานี้เลย

Comments