รีวิวชิ้นส่วน DIY ตัวเครื่องเล่นแผ่นเสีบง (ตัวเปล่า)

คราวนี้ผมจะมารีวิวชิ้นส่วนตัวเครื่องเล่นแผ่นเสียง(ตัวเปล่า)ที่ผมซื้อมาจากอาลีเอ๊กเพรสชิ้นส่วนสำคัญ นั่นคือตัว Turntable ครับ
 ภาพนี้ก๊อปมาจากหน้าที่เขาขายนะครับ
ตอนที่ผมซื้อมาตอนนั้นผมเห็นมีขายอยู่เจ้าเดียว คุณสามารถคลิกตรงนี้เพื่อไปดูหน้าขายสินค้าตัวนี้ได้ครับ แต่วันนี้ (กันยายน 2562) ผมค้นด้วยคำว่า Turntable record player เห็นมีขายหลายเจ้าเลยครับแถมยังถูกกว่าเจ้าที่ผมเคยซื้อซะอีก
วันนี้สามารถค้นเจอผู้ขายได้หลายรายมาก
ตอนนั้นผมซื้อมาในราคา 24.03 เหรียญสหรัฐ ฟรีค่าส่งครับ ในหน้าโฆษณาของเขาเน้นรูปของสินค้าเป็นหลัก ผมขอก๊อบรูปบางส่วนของเขามาลงตรงนี้ละกันนะครับ

และก็มีคำอธิบายไว้หน่อยเดียวตามนี้ครับ
Description:
- Portable Turntable Vinyl LP Record Player with Cartridge, Stylus, Built-in Preamp, Adjustable Counterweight.
- Brand new and high quality.
- High performance audio technica cartridge produces outstanding clarity.
- It can be the best partner when you are enjoying afternoon tea or holding a party with your friends.
- Material: Plastic

Size Chart:
Diameter: approx. 28cm/11inch
Package Includes:
1 Piece Turntable Vinyl LP Record Player

จากรูปและข้อมูลที่ผู้ขายโฆษณาไว้ข้างต้นทำให้ผมนึกไปเองว่าซื้อเจ้าตัวนี้มาแล้วทำกล่องใส่ แล้วต่อสายไฟเลี้ยงมัน แล้วก็ต่อสายเสียงไปเข้าแอมป์ก็คือใช้งานได้  เพราะเขามีคำว่า Build-in Preamp ซึ่งทำให้ผมเข้าใจว่ามันคือมีโฟโนพรีแอมป์กากๆ ใส่มาในนั้นให้แล้ว
ผมมโนไปเองว่าไอ้ที่มันดูยุ่งๆ นี่คือโฟโนพรีแอมป์
ในใจก็สงสัยอยู่ว่าทำไมโฟโนมันเล็กจัง ยัดเข้ามาในนี้ได้เลยเหรอ แต่ คิดไปว่าคงเป็นแบบกากๆ ใช้จริงๆ คงไม่ได้อะไรทำนองนั้น อยากให้ดีก็ไปอัพเกรดเอาเอง 

เอาไงดี ย้อนไปดูรีวิวลูกค้าก็ไม่มีลงเลย จำนวนลูกค้าที่เคยขายไปโชว์ว่ามีแค่ 2 ราย เอ้า! เสี่ยงกับมันหน่อย สรุปคือเคาะซื้อมาลองเล่นดู

ผ่านไป 25 วันของก็ส่งมาถึงบ้าน การจัดส่งแบบว่าไม่ดีเลย ไม่ได้มีีการป้องกันตัวสินค้าเท่าที่ควร ตัว Turntable เสียหายไปหลายส่วน และนี่คือภาพพร้อมคำอธิบายที่ผมแจ้งไปยังผู้ขายในวันรุ่งขึ้นครับ
นี่คือบรรจุภัณฑ์สินค้าที่ผมได้รับ
แผ่นใยบางๆ นุ่มๆ ที่ห่อมาไม่เซฟพอที่จะป้องกันการกระแทกใดๆ ได้
นี่คือตัวเครื่องเล่นในซองพลาสติก เห็นหัวเข็มวางบนแป้น แต่ที่ครอบหัวเข็มหลุด
ตัวปลายเข็มของเครื่องเล่นอยู่บนแป้นแบบไม่มีสิ่งป้องกัน
พอดูที่ปลายเข็ม พบว่ามันหลุดหักหายไปแล้ว
แถมเจอชิ้นส่วนของหัวเข็มที่แตกออกมาด้วย แต่ไม่พบเจ้ายอดปลายเข็ม
ผมพยายามเก็บทุกชิ้นส่วนแล้ววางให้เข้าที่ของมัน
 พอมาตรวจดูตัวเครื่อง พบว่ากรอบพลาสติกตัวเครื่องแตกหัก
มันแตกหัก
หักเป็นแนวยาวตามแนวที่ชี้
แถมตัวก้านเข็มเครื่องเล่นมันลอย ไม่วางลงมาบนแป้นหมุน
ส่องให้เห็นชัดๆ ว่าก้านเข็ม (Tonearm) มันลอย
วันถัดมาผู้ขายก็ตอบกลับมาว่ายินดีรับผิดชอบ ให้แจ้ง Dispute มาในระบบของอาลีเอ๊กเพรส ผมจึง Dispute แล้วก็ได้รับคืนเงินเข้ามาในบัตรเครดิต และผมก็ไม่ได้จัดส่งสินค้าคืนเขา เพราะเขาไม่ได้ร้องขอให้คืน
บอกตามตรงว่าผมไม่กล้าสั่งชิ้นใหม่มาเพราะเขาก็คงส่งมาแบบเดิมอีก ตอนที่เขาเมล์ตอบมาก็ไม่ได้แสดงเจตนาว่าจะรับผิดชอบด้วยการส่งชิ้นใหม่มาให้ทดแทนโดยจะแพ๊กให้แน่นหนาขึ้น มันคงเป็นวิธีการของบริษัทที่ส่งแบบนี้เป็นปกติ และหลังๆ มาผมก็เห็นรีวิวจากคนซื้อว่าได้รับพัสดุมาแบบผมเหมือนๆ กัน ไม่เป็นไร ก็คิดว่าได้ซากเครื่องเล่นแผ่นเสียงมาฟรีๆ แล้วลองมาดูว่าจะทำอะไรกับมันได้บ้าง

ปัญหาของเครื่องเล่นตอนนี้คิอ
  1. ปลายเข็มหัก
  2. เฟรมเครื่องแตก
  3. ก้านเข็ม (Tonearm) ค้าง ไม่ลงมาวางบนแป้น
พอจับเอาเครื่องมาดู หมุนแป้นไปมา ก็พบว่าโทนอาร์มมันเคลื่อนลงมาวางบนแป้น มันคือกลไกการเก็บโทนอาร์มเมื่อเล่นจบแผ่น คือเมื่อหากเล่นแผ่นเสียงจนหมดแผ่น โทนอาร์มจะเคลื่อนเข้าสู่จุดที่กลไกการยกโทนอาร์มเข้าเก็บกลับเริ่มทำงาน กลไกจะทำการยกโทนอาร์มขึ้นจากแผ่นแล้วเฟืองกลไกก็จะเคลื่อนโทนอาร์มกลับไปลงยังขาตั้งรองรับโทนอาร์ม ถือเป็นการจบการทำงานของกลไก 
ซึ่งตอนที่ผมตรวจเครื่องตอนแรก คงไปเผลอทำให้กลไกมันทำงาน โทนอาร์มเลยถูกยกค้างไว้ ไม่วางลงบนแป้น ก็เลยทำให้ผมคิดว่าเป็นความชำรุดบกพร่องตามที่ได้แจ้งเขาไป สรุปคือเรื่องโทนอาร์มค้างก็ไม่เป็นปัญหา (หลงไปเคลมเขาซะยังงั้น ที่จริงไม่รู้เรื่องเอง) ถ้าคุณผู้อ่านอยากเห็นว่ากลไกการยกโทนอาร์มกลับเป็นอย่างไรก็ลองคลิกไปดูคลิปทดสอบการเล่นใน ลงมือ DIY เครื่องเล่นแผ่นเสียง ตอนที่ 3 ได้ครับ

จบไปหนึ่งเรื่อง ยังเหลืออีก 2 ทำไง เริ่มจากตัวเฟรมเครื่องหัก สาหัสขนาดไหน ถ้าแก้ไขอะไรไม่ได้ก็จบ

ผมลองจับบิดเฟรมเครื่องไปมาเบาๆ มันโยกตามมือนิดหน่อย และรอยร้าวก็ทำท่าจะขยายยาวขึ้นได้อีกถ้าบิดแรงๆ ดูจากตำแหน่งแนวที่แตกก็ถือว่าเป็นจุดรับน้ำหนักสำคัญ เฟรมหลักของเครื่องมี 2 ข้าง ข้างนึงแตกตอนนี้ อีกข้างยังดีอยู่ ผมเลยคิดว่าถ้าเอาแผ่นพลาสติกอะไรก็ได้มาติดกาวดามตรงรอยแตกก็อาจจะช่วยได้

ไปค้นๆในเก๊ะดู มีบัตรประจำตัวพนักงานเป็นบัตรเก่าหมดอายุ มีรูปหน้าผมติดอยู่ด้วย เอามาติดก็น่าจะดี บัตรก็เหนียวและแข็งดี น่าจะใช้ได้
เอาบัตรพนักงานเก่ามาตัดแล้วติดกาวแปะดามรอยที่เฟรมหัก
มีรูปติดไว้ด้วยแสดงความเป็นเจ้าของ
ติดกาวดามรอยที่แตก ทิ้งไว้ให้แห้งสนิท ลองมาจับบิดดูก็พบว่าแข็งแรงขึ้นไม่คลอนไปมาตามแรงมืออย่างที่เคยเป็น

โอเคตอนนี้ก็เหลือแค่เข็มที่หักอย่างเดียว ดูแล้วแค่ซื้อปลายเข็มใหม่มาเปลี่ยนก็เรียบร้อย ลองควานหาดูในอาลีเอกเพรสก็มีมากมายให้ซื้อ ปลายเข็มที่ขายกันเยอะๆ มี 2 แบบคือแบบเข็มแซฟไฟร์ กับเข็มเพชร เข็มแซฟไฟร์ 30 บาท เข็มเพชร 60 บาท ก็เล็งไว้ว่าจะสั่งซื้อเข็มเพชรมาใส่แทน
 ปลายเข็มเครื่องเล่นแผ่นเสียง
แต่ตอนนี้ยังไม่สั่งซื้อ ผมควรจะทดสอบตัวเครื่องเล่นก่อนว่ามันสามารถใช้การได้ เพราะไม่รู้ว่าการกระทบกระแทกที่มันผ่านมาจะทำให้อะไรๆ ข้างในเสียจนใช้การไม่ได้หรือเปล่า
สภาพของเครื่องที่ยังรอความหวังว่าจะยังใช้ได้หรือเปล่า
ผมลองดูตัวเครื่องและลองถอดแยกชิ้นของส่วนประกอบของมัน โดยหาข้อมูลจากในเนต ก็ได้ถอดแป้นของมันออกมา
หงายแป้นมาก็จะมีสายพานซึ่งรัดอยู่ตรงสันขอบวงในใต้แป้น วิธีถอดแป้นคือต้องถอดสลักที่ยึดแป้นตรงด้านบนออกก่อนก็ยกแป้นขึ้นมาได้
สลักยึดอยู่ตรงโคนเดือยเสียบรูตรงกลาง รูปนี้อาจไม่เห็นไม่ค่อยชัด
ดูในเนตถอดเหมือนจะง่าย พอลองดูเอง ใช้ไขควงมางัดออกก็ไม่ค่อยง่ายเท่าไหร่ พอถอดออกมาแล้วก็เลยยังไม่อยากใส่กลับเข้าไป เลยต้องเอาเทปมาติดไว้ก่อน กันสลักหาย
ตัวสลักที่มากับเครื่องมีแค่ตัวเดียว แต่ที่เห็น 2 อันในรูปคือผมไปเจอสลักแบบที่คล้ายๆ กันในกล่องงานช่างที่บ้าน เลยเอามันมาติดไว้ด้วยเป็นชิ้นสำรอง

การถอดใส่แป้นกลับก็ไม่ยาก มีคลิปที่บอกวิธีถอดแป้นพร้อมวิธีใส่สายพานแป้นหมุน ตามคลิปเป็นเครื่องยี่ห้อ Crosley ซึ่งก็ใช้ตัวเครื่องแบบเดียวกันครับ
ระหว่างนี้ก็คิดว่าทำไงนะถึงจะลองทดสอบเครื่องได้ มันต้องจ่ายไฟเข้าเครื่องให้ได้เท่านั้นถึงจะรู้เรื่อง พลิกเครื่องดูไปมาก็เห็นตรงข้างๆ มอเตอร์มันมีคำว่า 12 VDC อยู่ น่าจะแปลว่าใช้ไฟกระแสตรง 12 โวลต์
มอเตอร์เครื่องบอกต้องการไฟ 12 VDC
ในบ้านไม่มีหม้อแปลงไฟ DC 12 โวลต์ ก็เลยไปเดินหาซื้อตามตลาดนัดแบกะดินขายเครื่องมือไฟฟ้าเก่า แล้วก็ได้อะแดปเตอร์มาตัวนึง 70 บาท (พอดีมันเป็นอแดปเตอร์ที่แจ๊กเสียบมันหายไป เลยขายให้ผมถูกๆ และผมก็ไม่ต้องการแจ๊กอยู่แล้วด้วย)

ปัญหาต่อไปคือผมจะต่อไฟเข้าเครื่องได้ยังไง เพราะดูๆ แล้วเครื่องนี้มีพอร์ตต่ออยู่ตรงที่เดียวคือตรงรูเสียบสี่เหลี่ยมที่มี 6 ขายื่นออกมา ตรงข้างๆ มอเตอร์ในรูป
เพื่อให้ข้อสงสัยต่างๆ คลี่คลาย ผมจึงยอมบากหน้าเมล์ไปถามผู้ขาย (หลังจากที่ผมได้คืนเงินค่าของกลับมาแล้ว) ว่าไอ้ขา 6 ขาที่โผล่มา แต่ละขามันคืออะไร และก็ถามไปอีกว่าใช้ไฟอะไร กี่โวลต์ (เพื่อความแน่ใจ) แต่ผู้ขายก็ไม่ได้ตอบอะไรกลับมา ซึ่งผมก็คงตำหนิเขาไม่ได้ เพราะเขาไม่ได้อะไรจากผมเลยเลย แล้วยังจะมาถามโน่นถามนี่

ดูจากช่องรู 6 ขาแล้วคงต้องไปหาแจ๊ก 6 รูเสียบเข้าไป แหล่งที่คิดว่าน่าจะมีคือบ้านหม้อ ผมเลยหอบหิ้วเจ้าเครื่องเล่นแผ่นเสียงนี้ไป และก็อาจจะไปให้ช่างแถวนั้นต่อสายแล้วก็ทดสอบให้ด้วย
แจ๊กเสียบประมาณนี้ ที่ต้องการคือสำหรับ 6 ขา
ผมไปเดินดูตามร้านอะไหล่ขายชิ้นส่วนอิเลกโทรนิกส์ที่มีพวกแจ๊กสำเร็จรูปมัดเป็นกำๆ โชว์ขาย ก็เข้าไปถามว่ามีแบบที่เสียบรูแบบนี้ไหมพร้อมเปิดรูของเจ้าเครื่องเล่นแผ่นเสียงให้ดู เขาบอกไม่ได้ทำไว้ ต้องซื้อแบบดิบๆ ไปต่อเอาเอง ผมก็เลยซื้อมาในราคาน่าจะซัก 6 บาท 

แล้วผมก็ไปหาช่างที่ตั้งโต๊ะริมถนนให้ช่วยต่อแจ๊กให้และขอให้เขาทดสอบให้ที ช่างเขาก็ต่อแจ๊กเสียบให้ แต่ไม่ได้ทดสอบให้เพราะต้องมาไล่สาย และเครื่องเล่นแผ่นเสียงต้องมีวงจรขยายมาต่ออีก ไม่ใช่มีแค่ตัวนี้ตัวเดียว มันยังไม่พอให้ทดสอบ ผมเลยคิดว่าได้แค่แจ๊กเสียบมา เดี๋ยวผมลองไปงมต่อเองดู

ก่อนกลับบ้านผมก็โทรไปหาช่างซ่อมเครื่องเล่นแผ่นเสียงตัวเก่าของพ่อผมที่เคยให้เขาซ่อม ให้เขาดูว่าจะทำอย่างไรกับเจ้าเครื่องนี้ได้ คำตอบก็คือเหมือนกัน ต้องหาวงจรขยายมาประกอบเข้าด้วยกันถึงจะลองเล่นดูได้ ถ้ายังไงให้ผมตีกล่องขึ้นมาก่อน แล้วถ้าประกอบไม่ได้ก็หามาแกได้

สรุปวันนั้นก็คือได้แจ๊กเสียบสำหรับเจ้า 6 ขานั่นแล้ว แต่ไม่ได้ทดสอบเครื่อง ผมก็เลยต้องมาเวิร์กเองต่อ

ผมกลับมาลองไล่สายไฟในตัวเครื่องเอง พอดีว่าผู้ผลิตเขาเลือกใช้สายไฟแยกเป็นสีๆ เลยทำให้พอจะไล่สายได้ง่ายขึ้น ใช้เวลาประมาณ ชั่วโมงเดียวก็พอจะเดาได้ว่าแต่ละสายที่โยงไปยังโคนขาแต่ละขาเป็นสายอะไร

ขามี 6 ขา เป็นสายสัญญาณเสียงจากหัวเข็ม 3 สาย เป็นสายที่โยงไปมอเตอร์ 3 สาย ดังนั้นจะทดลองเครื่องก็ต้องโฟกัสไปที่ 3 สายที่ไปมอเตอร์

ช่างที่บ้านหม้อแนะนำว่าถ้าจะทดสอบเอง ให้ระวังเรื่องขั้วไฟฟ้า ขั้วบวก ขั้วลบ ถ้าแตะๆ แล้วไม่กระดิก ก็อย่าไปแช่ ไฟเข้าผิดขั้วก็อาจจะทำให้เครื่องเสียหาย ผมก็ลองทำดู ทำไปทำมาก็พบว่าเครื่องเล่นแผ่นเสียงหมุนได้ โอย ดีใจ มันเวิร์ค ผมเลยจดเป็นกระดาษไว้ก่อนกันลืม
แล้วก็ติดป้ายพันเทปไว้ที่แต่ละสายว่าคืออะไร จะได้เห็นชัดๆ ว่าเป็นสายอะไร ต่อไปเวลาจะต่อสายก็ตรวจป้ายกำกับให้ถูกต้องเสียก่อน ป้ายประจำสายที่ผมเขียนกำกับไว้ ไล่จากข้างซ้ายมาขวาก็คือ
+R หมายถึง สายสัญญาณเสียงขั้ว + ด้านสเตริโอข้างขวา
+L หมายถึง สายสัญญาณเสียงขั้ว + ด้านสเตริโอข้างซ้าย
G หมายถึง สายกราวน์ของสัญญาณเสียง
G(ตัวถัดมา) หมายถึง สายกราวน์(หรือขั่วลบ) ที่จะต่อไฟ AC ขั้วลบ
AUTO หมายถึง สายต่อกับไฟ AC ขั้วบวก โดยเครื่องจะทำงานเปิดปิดมอเตอร์โดยอัตโนมัติ ตามกลไกแขนกลใต้เครื่องเมื่อห้วเข็มอยู่เหนือแป้นหมุน
DIRECT หมายถึง สายต่อกับไฟ AC ขั้วบวก โดยไฟจะเข้ามอเตอร์ทันที มอเตอร์ก็จะทำงานโดยทันที

ที่ผมทดสอบคือครั้งแรกลองต่อไฟ AC ขั้วบวกเข้าสาย DIRECT แล้วต่อไฟ AC ขั้วลบเข้าสาย G (ที่ต่อเข้ามอเตอร์) พบว่าแป้นหมุนทำงานทันที

ครั้งที่สองทดสอบลองเปลี่ยนสายไฟ AC ขั้วบวกจากที่ต่อเข้า DIRECT มาเข้า AUTO แทน พบว่ามอเตอร์กลับไม่ทำงานแม้ว่าผมจะยกหัวเข็มไปเหนือแป้นแล้ว แปลว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับตัวแขนกลใต้เครื่องที่จะไปกดสวิทช์ให้ทำงาน

ลองถอดไฟทุกอย่างออกแล้วตรวจสภาพของเครื่องอีกครั้ง พบว่ามีพลาสติกชิ้นหนึ่งที่อยู่ตรงกลไกสวิทช์มันแตกหักไป (อยู่ตรงมุมใกล้กับเฟรมที่แตกพอดี คงแตกเพราะการหีบห่อสินค้ามาไม่ดี) เลยทำให้ไม่เกิดการสับสวิทช์ ผมลองแก้ด้วยการตัดชิ้นยางลบให้ได้ขนาดพอดี วางสอดลงไปเพื่อคอยยันให้สวิทช์ทำงานเมื่อแขนกลมากดสวิทช์ ปรากฎว่าได้ผล กลไกสวิทช์อัตโนมัติสามารถกลับทำงานได้เป็นปกติ
ก้อนยางลบสีขาวทรงยาว 2 ชิ้น ที่สอดเข้าไปทำหน้าที่แทนพลา่สติกที่หักไป
ถึงตอนนี้เรียกได้ว่าได้ทดสอบการทำงานของมอเตอร์และกลไกอัตโนม้ติของเครื่องเรียบร้อยแล้ว เหลือแต่การทดสอบสายสัญญาณเสียง ดังนั้นผมจึงสั่งซื้อปลายเข็มมาจากอาลีเอกเพรสมาเพื่อแทนของเดิมที่ปลายเข็มหัก แล้วค่อยไปทดสอบตอนต่อวงจร 

เรื่องดูเหมือนจะราบรื่นแล้ว แต่ก็ต้องมาเจอปัญหาอีกเมื่อปลายเข็มที่สั่งซื้อมาใหม่ที่ได้รับมามันมีขนาดไม่พอดีเท่าของเดิม เวลาถอดของเดิมแล้วใส่อันใหม่แทนเข้าไป มันออกจะเผยอๆ จนเวลาวางเข็มบนแผ่นเสียงแล้ว ตัวชิ้นพลาสติกสีแดงแทบจะเกือบแตะตัวแผ่นเสียงเลย ซึ่งไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น ทำไงดี
หัวเข็มที่สั่งมาใหม่ แต่ใส่่แล้วเผยอ ไม่พอดี
ผมเลยลองชำแหละปลายเข็มอันเดิมดูว่ามันเป็นอย่างไร โดยลองเอาคีมดึงเข็มให้หลุดจากตัวพลาสติก พบว่ามันแค่เอาตัวเข็มสอดเข้าไปในพลาสติกแบบดื้อๆ เลย ไม่มีชิ้นส่วนแม่เหล็กหรืออะไรอื่นใดเลยทั้งสิ้น (จนผมรู้สึกว่าของแบบนี้ 60 บาทยังแพงไปเลย 20 บาทก็กำไรอื้อซ่าแล้ว)
 ลองดึงเข็มออกจากชิ้นพลาสติก มันแค่เสียบไว้เฉยๆ
พอเป็นแบบนี้ผมก็เลยจัดการดึงเข็มจากอันใหม่มาใส่เบ้าพลาสติกอันเดิมแล้วใส่กลับไปที่หัวเข็ม ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย
สภาพที่แก้ไขเสร็จเรียบร้อย เข็มใหม่แนบสนิทอยู่ในเบ้าของเข็มเดิม
ภึงตอนนี้ปัญหาเรื่องหัวเข็มก็จบเรียบร้อย ยังมีอีกนิดหน่อยที่ต้องโมดิฟายเพื่อให้ตัวเครื่องสอดวางลงในกล่องไม้ที่ผมทำไว้ได้อย่างพอดี คือต้องเอาพวกสปริงและขา 4 จุดที่ยึดมากับพลาสติกตัวเครื่องออก มีตรงไหนบ้าง ดูเลยครับ

ขาและสปริง 4 จุดที่ผมถอดออกเพื่อให้วางบนกล่องได้ไม่ติดขัด
จากในรูปข้างบน ตัวสปริงทั้ง 4 จุดดึงออกได้ง่ายดาย แต่ตรงจุดขวาสุดและซ้ายสุดมีขาเหล็กชุบยึดติดกับตัวพลาสติกซึ่งดึงออกยาก ถ้าใช้กำลังรุนแรงก็อาจจะทำให้โครงพลาสติกแตกได้ ผมก็เอาหัวแร้งบัดกรีแตะกับชิ้นขาเหล็ก พอตัวขาเหล็กร้อนจนพลาสติกที่ยึดอ่อนตัวก็เอาคีมดึงขาเหล็กออกมาได้ง่ายดาย

จากนั้นเวลาเอาเครื่องวางบนกล่องไม้ก็ใช้วิธีไขกสรูยึดกับตัวกล่องไม้เลยครับ ของเดิมมีรูให้สกรูรูเดียว ผมก็ใช้สว่านเจาะรูเพิ่มอีก 3 รูตรงจุดที่ถอดสปริงออก ก็ยึดได้ทั้ง 4 จุด แข็งแรงไม่เขยื้อนเลย
 ยึดตัวเครื่องเล่นแผ่นเสียงให้ติดกับกล่องไม้ด้วยสกรู
ที่เล่ามาก็คือครบถ้วนแล้วที่ผมโมดิฟายตัวเครื่องเล่นแผ่นเสียงเพื่อใส่ในกล่องและพร้อมจะต่อสายไฟและสายเสียงให้มันเล่นได้ต่อไป

และนี่ก็คือผลสุดท้ายของงานนี้ที่ได้เอาทุกอุปกรณ์ชิ้นส่วนมาจับยัดใส่ในกล่องไม้รูปทรงวินเทจสวยงามเท่าที่จะมีปัญญาทำออกมาครับ
ส่วนเรื่องของเสียงที่ออกมาก็ถือว่าพอใจครับ เหลือความไม่สมบูรณ์แบบไว้บ้างเพื่อต่อยอดในการ DIY เพื่ออัพเกรดคุณภาพเสียงต่อไป จะได้มีเรื่องให้ทำต่อครับ (ไม่จบ)

ขอสรุปความสามารถของเจ้าตัวเครื่องเล่นแผ่นเสียง(ตัวเปล่า) ที่มันสามารถทำได้ โดยไม่ได้อิงตามที่เขาโฆษณาขายนะครับ สิ่งที่มันทำได้ คือ
  1. ใช้เล่นแผ่นเสียงได้ที่ความเร็ว 3 สปีดให้เลือก คือ 33 1/3, 45 และ 78 รอบต่อนาที 
  2. มีก้านยก Tonearm แล้วค่อยๆ ปล่อยหัวเข็มให้ลงมาแตะสัมผัสกับแผ่นเสียงได้อย่างนิ่มนวล 
  3. มีกลไกอัตโนมัติที่เมื่อเล่นแผ่นเสียงจนหมดแผ่นแล้ว กลไกจะทำงานโดยยก Tonearm ขึ้นจากแผ่นเสียงแล้วโยก Tonearm ให้กลับมาวางลงบนฐานพัก Tonearm และหยุดการหมุนของแป้นหมุน
  4. เราสามารถเปลี่ยนปลายเข็ม สายพาน เองได้
และท้ายสุดของหน้านี้ ผมขอสรุปความเห็นของผมที่มีต่อเครื่องเล่นแผ่นเสียง(ตัวเปล่า) เครื่องนี้ว่ามีอะไรที่ดี มีอะไรที่ไม่ดี (เป็นความเห็นส่วนตัว)

ข้อดี
  1. เครื่องเล่นแผ่นเสียง(ตัวเปล่า) ชิ้นนี้น่าจะมีจุดมุ่งหมายในการผลิตมาเพื่อเป็นอะไหล่ทดแทนตัวแท่น Turntable  ของเครื่องเล่นแผ่นเสียงในตลาดระดับเริ่มต้นที่มีขายอยู่หลายยี่ห้อ เช่น Crosley, Ion, Spinbox เป็นต้น แต่ก็สามารถนำมา DIY ได้โดยนำไปผสมกับวงจรขยายเสียงที่นัก DIY แต่ละคนจะพอใจ สามารถยกระดับคุณภาพเสียงให้ดีกว่าเครื่องในระดับเริ่มต้นในตลาดที่ผู้ผลิตมักจะมีข้อจำกัดในเรื่องการแข่งขันเรื่องราคา
  2. นัก DIY สามารถนำเครื่องเล่นแผ่นเสียงนี้ไปวางลงบนกล่องที่ทำขึ้นมาเองในแบบที่ไม่ซ้ำใคร เป็นผลงานชิ้นเดียวในโลกไม่มีใครเหมือน จะทำบอดี้เครื่องให้ออกมาวิจิตรพิศดารอย่างใดก็ได้ตามกำลังความสามารถ
  3. สำหรับผู้สนใจอยากมีเครื่องเล่นแผ่นเสียงแต่มีงบประมาณจำกัด สามารถเรียนรู้และหาซื้อเครื่องเปล่านี้ไป DIY ประกอบรวมกับวงจรขยายเสียงที่ให้คุณภาพเสียงในระดับที่ดีได้ ด้วยต้นทุนที่เท่ากันแต่ได้เครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ให้เสียงที่ดีกว่า และมีความรู้เพียงพอที่จะต่อยอดหรืออัพเกรดได้ด้วยตัวเองต่อในอนาคต แถมยังดูแลรักษาเครื่องเล่นเองได้ ซ่อมเองได้ ไม่ต้องพึ่งพาการรับประกันของบริษัทผู้ผลิต
  4. เป็นจุดเริ่มที่ดีของการเล่นเครื่องเสียง ได้เรียนรู้การทำงานของอุปกรณ์แต่ละอย่าง ได้พัฒนาทักษะการฟัง การแยกแยะคุณภาพเสียง ได้ประจักษ์เรื่องความกว้างของเวทีเสียง สิ่งเหล่านี้ผมไม่เคยเจอ เพิ่งจะมาได้สัมผัส
ข้อเสีย
  1. ดูจน ดูโลว์ เครื่องเล่นดีๆ มียี่ห้อมากมายในตลาด ทำไมไม่ไปซื้อ หน้าตาเครื่องเล่นแบบนี้นักเล่นเครื่องเล่นแผ่นเสียงมืออาชีพจะจัดเกรดให้ทันทีว่าเป็นเครื่องเล่นระดับเริ่มต้น เป็นเครื่องที่ให้เสียงในระดับที่ไม่ถึงขั้นออดิโอไฟล์
  2. สั่งซื้อเครื่องมามีความเสี่ยงเครื่องชำรุดจากการขนส่ง การหีบห่อสินค้าจากผู้ผลิตมาค่อนข้างแย่ ผมยังเห็นรีวิวจากลูกค้าบางคนที่ยังได้รับสินค้าที่ใส่กล่องที่ไม่ป้องกันการกระแทกอย่างที่ผมได้เหมือนกัน แปลว่าถ้าเสี่ยงสั่งมาก็ต้องตรวจสินค้าที่ได้รับอย่างละเอียดก่อนจะกดคลิกรับสินค้า และถ้าเจอความเสียหายก็ต้องรีบแจ้งกลับไป อาจจะได้เงินคืน แต่ก็ต้องทำใจว่าได้ของที่ไม่เต็มร้อยมาใช้
  3. หัวเข็มน้ำหนักมากถึง 6 กรัม ทำลายร่องแผ่นเสียงในระยะยาว เครื่องระดับดีๆ แพงๆ หัวเข็มหนักไม่เกิน 3 กรัมเพราะมีตุ้มถ่วงปรับน้ำหนักมาถ่วงไม่ให้หัวเข็มหนักเกินไป
  4. ไม่มีกลไกหน่วงการลื่นไถลเข้าศูนย์กลางของแผ่นเสียงเมื่อเล่นแผ่นเสียง ศัพท์ในวงการแผ่นเสียงเรียกว่า Anti-skating มีผลต่อการรับรู้การสั่นสะเทือนของหัวเข็มที่สัมผัสร่องเสียงด้านซ้ายและขวาไม่เท่ากัน เสียงที่ได้จึงไม่สมบูรณ์แบบ และมีโอกาสที่ทำให้เกิดเข็มกระโดดเล่นข้ามร่อง
  5. ปุ่มเลื่อนเลือกสปีดความเร็วแป้นหมุน เล็กและหลบอยู่ข้างฐานพัก Tonearm มองไม่ชัด ความไม่สะดวกมักจะมาหลังจากที่เล่นแผ่น 7 นิ้วซึ่งใช้ความเร็วที่ 45 รอบ/นาที พอจะเปลี่ยนไปเล่นแผ่น 12 นิ้วซึ่งมักใช้ความเร็วรอบที่ 33 รอบ/นาที เลยต้องมาเดาว่าต้องเลื่อนปุ่มเปลี่ยนขึ้นหรือลง เพราะตัวเลขที่ปั๊มนูนเป็นตัวเลขบนพลาสติกมันเล็กและอ่านยากเพราะเป็นสีดำเดียวกันทั้งชิ้นพลาสติก เลยมักเดาเอา บางทีก็เดาผิดเลื่อนไปสปีด 78
  6. กลไกการยก Tonearm เก็บวางกลับเข้าที่และหยุดการหมุนแป้นจะไม่เป็นปัญหาเมื่อเล่นแผ่น 12 นิ้ว แต่ถ้าเล่นแผ่น 7 นิ้ว บางแผ่น พบว่ายังเล่นไม่จบแผ่น กลไกก็ทำงานซะแล้ว ที่เป็นอย่างนั้นเพราะว่าขนาดของวงฉลากกระดาษกลมๆ ของแผ่น 7 นิ้วเล็กกว่าฉลากของแผ่น 12 นิ้ว ระยะการทำงานของกลไกที่ตั้งไว้ดีสำหรับแผ่น 12 นิ้วจึงสร้างปัญหาให้กับ 7 นิ้วบางแผ่นที่มีเนื้อของร่องเสียงมากจนลึกเข้าไปเกินระยะที่กลไกทำงาน เลยทำให้ยกเข็มเก็บก่อนที่จะเล่นจบเพลง ผมเลยถอดเฟืองกลไกนี้ออก และต้องยกเข็มเก็บกลับเองด้วยก้านโยกยก Tonearm เอาเอง
  7. ก้านโยกสำหรับยก Tonearm เวลาโยกเพื่อยก Tonearm ขึ้นไม่มีปัญหา แต่เวลาโยกเพื่อลด Tonearm ลงวางบนแผ่นเสียงแล้ว ถ้าปล่อยนิ้วจากก้านโยก ตัวก้านโยกจะตกลงตามแรงโน้มถ่วงและกระทบกับบอดี้จนเกิดเสียงกระแทกกันเบาๆ ของชิ้นพลาสติก มันน่าจะมีกลไกชะลอการตกของก้านโยกให้ค่อยๆ ไหลลงไปจุดเริ่มอย่างช้าๆ และไม่ให้เกิดเสียงรำคาญ
  8. เสียงกลไกการหมุนของสายพานและตัวแป้นหมุนจะเริ่มแสดงตัวออกมาลางๆ เมื่อเล่นเพลงคลาสสิค โดยเฉพาะช่วงที่ไวโอลินบรรเลงเดี่ยวในช่วงรินเสียงให้ค่อย อารมณ์เวลาหลับตาฟังแบบว่ากำลังฟังการแสดงสดจะหดหายไปทันที มันจะรู้สึกได้ว่านี่ไม่ใช่ แต่กำลังฟังจากแผ่นอยู่  ปัญหานี้ไม่เจอเมื่อเปิดเพลงป๊อบทั่วไป
  9. พลาสติกบอดี้ของเครื่องโปร่งโล่งทะลุลงไปด้านล่างได้ จึงไม่กันพวกจิ้งจกที่อาจจะมุดลงไปเดินเล่นข้างในเครื่องได้
นี่คือทั้งหมดที่พอจะนึกออกเรื่องข้อดีและข้อด้อยของเครื่องเล่นแผ่นเสียงตัวเปล่าตัวนี้

Comments